ผู้ประกอบการหรือนักบัญชีหน้าใหม่อาจมีข้อสงสัยว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” คืออะไร ใครเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อบ้าง มาหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- ไขข้อสงสัยใบกำกับภาษีคืออะไร ใครมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
- e-Tax Invoice คืออะไร มีกี่รูปแบบ แต่ละรูปแบบต่างกันอย่างไร
- ผู้ประกอบการต้องรู้! ใบเสร็จรับเงิน หากไม่ให้มีความผิดแน่นอน
- ใบแจ้งหนี้และใบวางบิลคืออะไร ใช้เมื่อไหร่ ต่างกันอย่างไร?
ใบกำกับภาษีแบบย่อ คืออะไร
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือ TAX INV (ABB) หรือ TAX INVOICE (ABB) คือ เอกสารหลักฐานสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับการขายสินค้าหรือบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก โดยผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยในจำนวนมาก เช่น ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์ที่จะขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น จะต้องสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปให้แก่ลูกค้าได้ด้วยเช่นกัน
ตามกฎหมายแล้วใครเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อบ้าง
ผู้ที่มีสิทธิหรือกิจการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ถูกต้องตามกฎหมายคือผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ กิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก และกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
กิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก
เป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อนำไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์นำไปขายต่อ เช่น ร้านขายยา ร้านขายของชำ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
กิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก
เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม ซ่อมแซมทุกชนิด เป็นต้น ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดี
โดยผู้ประกอบกิจการดังกล่าวสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร
รายการที่ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ
องค์ประกอบหรือรายการสำคัญที่ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ มีดังต่อไปนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ที่เห็นได้ชัดเจน
- ชื่อ หรือชื่อย่อของกิจการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
- เลขที่หรือหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยระบุข้อความชัดเจน “รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว” หรือ VAT INCLUDED
- ข้อความอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกำหนด
หมายเหตุ รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น ให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ ให้กระทำเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
ออกใบกำกับภาษีให้ถูกหลักสรรพากร
กิจการที่มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพากรนั้น คือ กิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก และกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ประสงค์ที่จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อทำการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะต้องทำการยื่นขอใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ กรมสรรพากรในพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
สรุปใบกำกับภาษีอย่างย่อ คืออะไร ตามกฎหมายใครเป็นมีสิทธิออกบ้าง
กล่าวโดยสรุปคือ ใบกำกับภาษีอย่างย่อคือ เอกสารสำคัญทางการเงินที่ใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการซื้อขายสินค้าหรือบริการสำหรับกิจการที่อยู่ในรูปแบบ “กิจการค้าปลีก” ที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้แก่ กิจการที่เป็นการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก และกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ทั้งนี้หากต้องการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะต้องทำการขออนุญาตจากกรมสรรพากร