นายจ้างที่ได้รับหนังสือแจ้ง “กยศ. หักเงินเดือน” ต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีวิธีการคำนวณ กยศ. หักเงินเดือนอย่างไร มาทำความเข้าใจ กยศ. หักเงินเดือนกันในบทความนี้เลย
บทความเกี่ยวกับการคำนวณที่คุณอาจสนใจ
- วิธีคำนวณสิทธิวันลาพักร้อนที่ HR ควรรู้
- วิธีการคำนวณ Turnover Rate และกลยุทธ์ลดการเกิด Turnover Rate
- วิธีการคิดเงินเดือนพนักงานรายเดือนตามกฎหมาย
- วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
กยศ. หักเงินเดือนคืออะไร สำคัญอย่างไร
กยศ. หรือกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนหมุนเวียนในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษา โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้ง่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และค่าครองชีพแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งนักเรียนและนักศึกษาจะต้องชำระหนี้คืนพร้อมกับดอกเบี้ยตามอัตราเมื่อจบการศึกษาแล้ว
กยศ.หักเงินเดือน คือ วิธีการชำระหนี้เงินกู้ กยศ. หรือ กรอ. โดยการหักเงินเดือนของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. หรือ กรอ. ผ่านนายจ้างที่ต้องทำการหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ยืม ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า “ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัฐ มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ” เรียกง่าย ๆ คือนายจ้างต้องหักเงินเดือนของลูกจ้างเพื่อชำระเงินกู้ยืมตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบนั่นเอง
นายจ้างจะต้องเตรียมตัวเรื่อง กยศ. หักเงินเดือน อย่างไรบ้าง
- กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะทำการตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ยืม โดยจะตรวจสอบจากประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือสรรพากร จากนั้นจะทำการส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้กู้ยืม และนายจ้างเพื่อเตรียมหักเงินเดือน
- เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือจาก กยศ เรียบร้อยแล้ว กรณีที่ไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือไม่ได้เป็นสมาชิกของ e-Filing นายจ้างจะต้องดำเนินการสมัครสมาชิกของกรมสรรพากร (e-Filing) ก่อน เพื่อนำส่งเงินกู้ยืม กยศ. (ภ.อ.01)
- กรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นประจำอยู่แล้ว หรือเป็นสมาชิกของ e-Filing อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้เพิ่มรายการนำส่งเงินคืน กยศ. ให้ทำการเพิ่มรายการนำส่งเงินคืน กยศ. (ภ.อ.02)
- สมัครสมาชิก e-PaySLF ในระบบของ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- นายจ้างดำเนินการหัก กยศ. หักเงินเดือนเพื่อนำส่งกรมสรรพากร
หมายเหตุ นายจ้างจะสามารถเริ่มหัก กยศ หักเงินเดือนก็ต่อเมื่อกองทุนได้แจ้งต่อนายจ้างอย่างเป็นทางการเท่านั้น
ขั้นตอนการนำส่ง กยศ. หักเงินเดือน
- เข้าสู่ระบบ e-PaySLF เพื่อรับข้อมูลรายชื่อและจำนวนเงินที่ต้องหักพนักงานจากระบบ
- บันทึกรายการและจำนวนเงินที่หักได้เข้าสู่ระบบ
- ตรวจสอบข้อมูลการหัก กยศ. หักเงินเดือน
- พิมพ์ชุดชำระ (Pay in slip) เพื่อนำไปชำระตามช่องทางที่กำหนด
- เมื่อหักเงินพนักงานแล้วให้ทำการนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
วิธีการคำนวณ กยศ. หักเงินเดือน
ในส่วนของการคำนวณ กยศ. หักเงินเดือน กองทุนมีวิธีการคำนวณยอดแจ้งหักเงินแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้กู้ยืมที่มีงวดการชำระเป็นรายปี และกรณีผู้กู้ยืมที่มีงวดการชำระเป็นรายเดือน ซึ่งจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กยศ. หักเงินเดือน กรณีผู้กู้ยืมที่มีงวดชำระเป็นรายปี
ผู้กู้ยืมเงินที่มีงวดการชำระเป็นรายปี กองทุนจะทำการนำงวดชำระรายปี มาคำนวณหรือเฉลี่ยให้เป็นรายเดือน โดยนำยอดหนี้ที่ต้องชำระในงวดปีถัดไปมาหาร 12 เดือน
ตัวอย่างเช่น
การคำนวณ กยศ. หักเงินเดือนเพื่อชำระในงวดวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ของนายสมชาย มากมี ตามตารางการชำระหนี้ ซึ่งมีจำนวนเงินที่ต้องชำระต่อปี 12,000 บาท จะมีวิธีการคำนวณดังนี้
เงินที่ต้องหัก กยศ หักเงินเดือนต่อเดือน เท่ากับ 12,000 บาท / 12 เดือน = 1,000 บาท
ดังนั้น นายจ้างจะต้องทำการหักเงินเดือน นายสมชาย มากมี เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท เพื่อนำจ่ายกับกรมสรรพากรตามตารางการชำระหนี้ 2567
กยศ. หักเงินเดือน กรณีผู้กู้ยืมที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน
ผู้กู้ยืมเงินที่มีงวดการชำระเป็นรายเดือน จะถูกหักเงินตามที่ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดี หรือสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล โดยกองทุนจะหัก กยศ. หักเงินเดือน ตามจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาที่ผู้กู้ยืมได้ตกลงไว้ทุกเดือน จนชำระหนี้เสร็จ
นายจ้างไม่หัก กยศ. หักเงินเดือนจากลูกจ้างที่ติดหนี้ กยศ.ได้หรือไม่
หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนพนักงาน, หักเงินเดือนแต่ไม่นำส่ง, นำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือนำส่งเกินระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่านายจ้างมีความผิด ซึ่งนายจ้างจะชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 2 ต่อเดือน จากยอดเงินที่ต้องนำส่ง หรือตามจำนวนเงินที่ขาดไป ดังนั้นหากภายในบริษัทมีลูกจ้างที่ติดหนี้ กยศ. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการนำส่ง กยศ หักเงินเดือน
กรณีที่นายจ้างไม่สามารถหักเงินเดือนพนักงานตามจำนวนที่กองทุนได้แจ้งไว้ได้ นายจ้างจะต้องทำรายการแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อกองทุนผ่านระบบ e-PaySLE โดยให้ทำการนำส่งรายชื่อ และจำนวนเงินที่สามารถหักได้พร้อมแจ้งเหตุสำหรับรายชื่อที่ไม่สามารถหักได้ตามที่กองทุนแจ้ง ซึ่งนายจ้างจะต้องพบเหตุดังต่อไปนี้
- ลูกจ้างลาออก ถูกปลดออก ไล่ออก หรือโอนย้าย
- รายได้คงเหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ (หลังหักรายการตามกฎหมาย)
- ลางานแบบไม่ได้รับเงินเดือน
- ได้รับโทษทางวินัย โดยไม่ได้รับเงินเดือน
- ชำระหนี้เสร็จสิ้น
- มีสถานะพักการจ้างโดยไม่ได้รับเงินเดือน
- ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงาน
- เสียชีวิต
สรุปกยศ.หักเงินเดือน นายจ้างต้องทำอะไรบ้าง?
จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแจ้งให้หักเงินเดือนของพนักงาน (ผู้กู้ยืม กยศ.) จาก กยศ. อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว นายจ้างสามารถสามารถดำเนินการหักเงินเดือน เพื่อนำส่ง กยศ. หักเงินเดือนได้เลย
อ้างอิง : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา