รู้หรือไม่? การวางแผนกลยุทธ์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง สิ่งนี้สำคัญและส่งผลดีต่อองค์กรอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์มาฝาก ติดตามได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- กลยุทธ์การบริหารคน ที่ผู้นำยุคใหม่ควรให้ความสำคัญ
- 4 ลักษณะนิสัยของผู้นำที่่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
- กลยุทธ์ 5C สู่ "การทำงานเป็นทีม" ที่ทุกองค์กรควรมี
การวางแผนกลยุทธ์ คืออะไร?
การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) คือ กระบวนการที่องค์กรใช้เพื่อกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายระยะยาวขององค์กร ช่วยให้องค์กรกำหนดวิสัยทัศน์, พันธกิจ, และวัฒนธรรม ที่จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานภายในองค์กรได้ นอกจากนี้ การวางแผนกลยุทธ์ยังช่วยในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอก
กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร?
ขั้นตอนหลักที่ทุกองค์กรต้องมีก่อนที่จะสร้างกระบวนการกลยุทธ์ให้ถูกต้อง องค์กรต้องรู้ทิศทางการทำงาน รวมถึงต้องรู้ปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคต ดังนี้
- องค์กรกำลังจะก้าวไปทางไหน ?
- สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ?
- องค์กรจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร ?
หากองค์กรมองเห็นสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ได้ชัดเจน ก็จะส่งผลให้การจัดการภายในองค์กรมีระบบแบบแผนมากขึ้น และทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมธุรกิจควรมีการวิเคราะห์ SWOT Analysis
SWOT Analysis คือการมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรค ของธุรกิจ ทำให้มองเห็นเป้าหมายขององค์กรอย่างมีระบบแบบแผน โดยแยกความหมายของ SWOT Analysis ได้ดังนี้
S = Strength จุดแข็ง
คือ ความโดดเด่นที่สุดที่องค์กรสามารถทำได้ เช่น การมีราคาสินค้าถูกกว่าคู่แข่ง, ความหลากหลายของสินค้าและบริการ
W = Weakness จุดอ่อน
คือ จุดด้อยที่เกิดขึ้นภายในองค์กรและต้องพยายามหาวิธีแก้ไขให้รวดเร็วที่สุด
O = Opportunities โอกาส
คือ โอกาสจากภายนอกองค์กรที่จะช่วยสร้างความสำเร็จได้ เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล
T = Threat อุปสรรค
คือ สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด
ขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์
ขั้นตอนการวางแผนกลยุทธ์ มีขั้นตอนดังนี้
กำหนดเป้าหมายและพันธกิจ
เป็นการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของสิ่งที่จะทำ
วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและปัจจัย SWOT
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและปัจจัยที่มีผลกระทบ ทำการตรวจสอบจุดแข็ง, จุดอ่อน, ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่
กำหนดแผนและกลยุทธ์
หลังจากการวิเคราะห์ SWOT เสร็จสิ้น เราจำเป็นจะต้องมีการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยทางด้านลบและใช้โอกาสจากปัจจัยทางด้านบวก รวมถึงการกำหนดทิศทางทางธุรกิจ, การกำหนดเป้าหมายย่อย, และวิธีการดำเนินงาน
นำแผนและกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
นำกลยุทธ์มาให้เกิดผลในการดำเนินการจริง ๆ โดยการจัดสรรทรัพยากร, การกำหนดระยะเวลา, และการติดตามผลลัพธ์
ควบคุมและประเมินผล
ในขั้นตอนนี้จำเป็นจะต้องมีตัวชี้วัด (Indicator) เพื่อใช้วัดผลถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่นำไปปฏิบัติ ถ้าพบว่ายังมีข้อบ่กพร่องของกลยุทธ์ที่นำไปปฏิบัติ สามารถกลับไปที่ขั้นตอนที่ 2 เพื่อวิเคราะห์หาข้อบกพร่องหรือรายละเอียดที่ยังขาดหายไปและนำไปปรับปรุงกลยุทธ์ต่อไป
การวางแผนกลยุทธ์สำคัญต่อองค์กรอย่างไร ?
การวางแผนกลยุทธ์สำคัญกับองค์กรอย่างไร ช่วยให้องค์กรเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง รายละเอียดมีดังนี้
มีจุดมุ่งหมายชัดเจน
การวางแผนกลยุทธ์ช่วยกำหนดทิศทางการเติบโตขององค์กร และช่วยให้คนในองค์กรมีวิสัยทัศน์เดียวกัน สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สร้างการปรับตัวทางธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์
การวางแผนกลยุทธ์ที่ดี จะช่วยให้องค์กรปรับตัวได้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว การบริหารต่าง ๆ ง่ายขึ้น
การจัดการทรัพยากร
การวางแผนกลยุทธ์ช่วยในการจัดการทรัพยากรทั้งทางการเงิน, บุคคล, เทคโนโลยี, และทรัพยากรอื่น ๆ ในองค์กร
สามารถวัดและประเมินผลได้ชัดเจน
เมื่อวางแผนตามขั้นตอนและลงมือทำแล้ว การวัดและประเมินผลก็สำคัญ เนื่องจากเป็นการสื่อถึงมาตรฐานขององค์กร ซึ่งถือเป็นอีกเหตุผลที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง หากผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่เป็นตามเป้า ก็ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ว่าเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร เป็นการมองเห็นจุดบกพร่องขององค์กรและแก้ไขได้ตรงจุดที่สุด
สรุปการวางแผนกลยุทธ์สำคัญกับองค์กรอย่างไร
การวางแผนกลยุทธ์ เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างรอบคอบและมีการร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร หากองค์กรใดมีการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีไว้ตั้งแต่แรก ถือว่าได้เปรียบและมีโอกาสก้าวหน้ากว่าองค์กรอื่น ๆ ดังนั้น ผู้นำองค์กรยุคใหม่ควรให้ความสำคัญกับการบริหารคนในองค์กร พร้อมรับมือและปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทำให้บุคลากรเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ตรงกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิผล และร่วมกันนำองค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน