วันนี้เรามัดรวมสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมาฝากผู้ประกันตนทุกท่าน จะมีเงื่อนไขใดบ้างนั้น ไปติดตามได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
- ความสำคัญและวิธีการส่งเงินสมทบประกันสังคม
- Q&A ไขข้อสงสัยเรื่องเช็กสิทธิประกันสังคม
- กองทุนเงินทดแทนคืออะไร? กิจการใดบ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
- Q&A กองทุนเงินทดแทนนายจ้างต้องจ่ายเท่าไหร่ และจ่ายอย่างไร?
มัดรวมสิทธิประโยชน์กับ 2 กองทุน
ประกันสังคม มัดรวมสิทธิประโยชน์กับ 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนเงินทดแทน ซึ่งแต่ละกองทุนให้สิทธิประโยชน์ต่างกันอย่างไร และผู้ประกันตนจะได้รับเงินในกรณีไหนบ้างไปเช็กเงื่อนไขได้จาก 2 กองทุนนี้เลย
รู้จักกับกองทุนประกันสังคม
กองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อต้องประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยมี 7 กรณี ดังนี้
กรณีเจ็บป่วย หรือประสบอันตราย (ไม่เนื่องจากการทำงาน)
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
- ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ
- ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน
- กรณีทันตกรรม : ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 900 บาทต่อปี (กรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด)
กรณีคลอดบุตร
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันคลอดบุตร
ผู้ประกันตนหญิง
- ได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง เฉลี่ย 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง
ผู้ประกันตนชาย
- ได้รับเฉพาะค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- ค่าฝากครรภ์จำนวน 1,500 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
กรณีทุพพลภาพ (ไม่เนื่องจากการทำงาน)
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง (สูญเสียตั้งแต่ 50% ขึ้นไป)
- ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 30% ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่เกิน 180 เดือน
กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง (สูญเสียตั้งแต่ 35% ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 50%)
- ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันตลอดชีวิต
- รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
กรณีตาย
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย
จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินสงเคราะห์กรณีตายดังนี้
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าเฉลี่ย 4 เดือน
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าเฉลี่ย 12 เดือน
กรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน
กรณีชราภาพ
เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน)
- ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน)
- จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกัน
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ทดแทน
กรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
- ถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานในอัตรา 30% ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 90 วัน
หมายเหตุ: ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนและรายงานตัวกรณีว่างงานภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
รู้จักกับกองทุนเงินทดแทน
กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียวตามประเภทความเสี่ยงของกิจการเพื่อนำไปจ่ายทดแทนให้ลูกจ้าง กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย/ สูญเสียสมรรถภาพ/ ทุพพลภาพ/ ตาย หรือสูญเสีย เนื่องจากการทำงาน
โดยกองทุนเงินทดแทน จะคุ้มครองทันทีตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานให้นายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน
- กรณีไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก
- กรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย (ไม่เกิน 10 ปี)
- กรณีทุพพลภาพ (ตลอดชีวิต)
- กรณีตาย/สูญหาย (10 ปี)
โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล จนสิ้นสุดการรักษา (ในสถานพยาบาลของรัฐ)
- ค่าทำศพ ได้รับค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท
- ทดแทนรายเดือน เมื่อลูกจ้างมีการหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหายจะได้รับค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน
สรุปมัดรวมสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
โดยสรุปแล้วสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนนั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อต้องประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย และกองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียวตามประเภทความเสี่ยงของกิจการเพื่อนำไปจ่ายทดแทนให้ลูกจ้าง เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่บุคคลทุกประเภท