“การแจ้งออกประกันสังคม” เรื่องสำคัญที่นายจ้างต้องทำเมื่อมีพนักงานลาออก เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมาย ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- วิธียื่นเอกสารแจ้งเข้าประกันสังคมทางออนไลน์ สำหรับนายจ้าง
- รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
- สิทธิประกันสังคมตรวจสุขภาพประจำปีฟรีกี่รายการ อะไรบ้าง?
- 10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
- วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมง่าย ๆ ผ่าน SSO Connect
- มัดรวมสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
การแจ้งออกประกันสังคม สำคัญอย่างไร
การแจ้งออกประกันสังคม หรือการแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของนายจ้างที่ต้องกระทำเมื่อมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดสับสนในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งหากมีนายจ้างหรือหน่วยงานหลายแห่งแจ้งเข้าหรือแจ้งออกประกันสังคมให้ลูกจ้างล่าช้า จะทำให้ระบบฐานข้อมูลของสำนากงานไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ล่าช้า รวมถึงอาจทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลเกินจริง
เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการเกิดปัญหาข้างต้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงกำหนดข้อบังคับว่าหากพบนายจ้างที่มีเจตนาหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ล่าช้า จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายจ้างต้องแจ้งออกประกันสังคมให้กับลูกจ้างเมื่อไร
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่แจ้งออกประกันสังคมให้กับลูกจ้างเมื่อลูกจ้างลาออกจากงาน หรือสิ้นสภาพจากการเป็นพนักงานด้วยเหตุอื่นใด โดยให้นายจ้างยื่นแบบแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) พร้อมระบุสาเหตุการออกจากงานนับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
วิธีการแจ้งออกประกันสังคมสำหรับนายจ้าง
การแจ้งออกประกันสังคม หรือการแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน สำหรับนายจ้างสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ดำเนินการที่สำนักงานประกันสังคม และดำเนินการผ่านระบบ e-Service ดังนี้
ขั้นตอนการแจ้งออกประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคม
การแจ้งออกประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคม สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th
2. ลงทะเบียนและพิมพ์แบบ สปส.6-09
3. นำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร/ จังหวัด/ สาขาในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
4. เจ้าหน้าที่จะทำการอนุมัติ USER PASSWORD ให้แก่นายจ้าง โดยจะตอบกลับทางอีเมล
ขั้นตอนการแจ้งออกประกันสังคมผ่านระบบ e-Service
การแจ้งออกประกันสังคมผ่านระบบ e-Service สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th เลือกหัวข้อ “สถานประกอบการ”
2. คลิกเมนู “ทะเบียนผู้ประกันตน” ระบบจะแสดงหน้าจอทะเบียนผู้ประกันตน
3. เลือกที่เมนู “แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09)” และเลือกสถานประกอบการที่ต้องการดําเนินงานด้านทะเบียน
4. คลิกปุ่ม “ตกลง” ระบบจะแสดงหน้าจอบันทึกข้อมูล
5. กรอกเลขบัตรประจําตัวประชาชนของผู้ประกันตนที่ต้องการขึ้นทะเบียน ระบบจะดึงข้อมูลชื่อ นามสกุลของผู้ประกันตนมาแสดง
6. เลือกวัน เดือน ปี และสาเหตุการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน และคลิกปุ่ม “ดําเนินการต่อ” ระบบจะแสดงหน้าจอตรวจสอบข้อมูล
7. ทําการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง หากต้องการแก้ไขให้คลิกปุ่ม “กลับไปหน้าที่แล้ว” ระบบจะย้อนกลับไปให้แก้ไขข้อมูลอีกครั้ง
8. เมื่อตรวจสอบข้อมูลถูกต้องแล้วให้คลิกปุ่ม “ดําเนินการต่อ” ระบบจะแสดงหน้าจอยืนยันการบันทึกข้อมูล พร้อมทั้งส่งอีเมล แจ้งรับข้อมูลการลาออกของผู้ประกันตน สปส.6-09
Tips! อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม >> วิธียื่นเอกสารแจ้งเข้าประกันสังคมทางออนไลน์ สำหรับนายจ้าง <<
ข้อควรระวังสำหรับการแจ้งออกประกันสังคม
ในการแจ้งออกประกันสังคมนั้น นายจ้างจำเป็นต้องระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน โดย พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดสาเหตุการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนไว้ทั้งสิ้น 7 สาเหตุ ดังนี้
1. ลาออก/ ละทิ้งหน้าที่โดยมีการติดต่อนายจ้าง ภายใน 6 วันทำงานติดต่อกัน
2. สิ้นสุดระยะเวลาการจ้าง
3. เลิกจ้าง/ โครงการเกษียณก่อนกำหนด
4. เกษียณอายุ
5. ไล่ออก/ ปลดออก/ ให้ออกเนื่องจากกระทำความผิด/ ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีการติดต่อนายจ้างภายใน 7 วันทำงานติดต่อกัน
6. ตาย
7. โอนย้ายสาขา
สิ่งที่นายจ้างควรพึงระวังคือการแจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จ เช่น การแจ้งลาออกไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจมีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุป วิธีการแจ้งออกประกันสังคมเมื่อมีพนักงานลาออก สำหรับนายจ้าง
เมื่อในองค์กรมีพนักงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สิ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน นายจ้างมีหน้าที่แจ้งออกประกันสังคมต่อสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยสามารถดำเนินการแจ้งได้ 2 ช่องทาง คือ ดำเนินการที่สำนักงานประกันสังคม และดำเนินการผ่านระบบ e-Service หากนายจ้างมีเจตนาหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ล่าช้า หรือแจ้งสาเหตุการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนเป็นเท็จ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้นนายจ้างจึงควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมของลูกจ้าง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามกฎหมาย