เรื่องสำคัญที่นายจ้างควรรู้ “ค่าชดเชยพิเศษ” คืออะไร หมายความว่าอย่างไร และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษในกรณีไหนบ้าง บทความนี้เราจะมาไขข้อสงสัยให้คุณ
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- Q&A เลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
ค่าชดเชยพิเศษคืออะไร หมายความว่าอย่างไร?
ค่าชดเชยพิเศษ หมายถึง เงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมจากค่าชดเชยปกติ กรณีสัญญาจ้างสิ้นสุดลง โดยมีเหตุผลพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกเหนือจากค่าชดเชยตามปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ได้แจ้งรายละเอียดการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ลูกจ้างยังมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยพิเศษตามที่กฎหมายแรงงานระบุไว้ โดยกฎหมายแรงงานได้กำหนดค่าชดเชยพิเศษไว้ จะมีกรณีใดบ้างนั้น HumanSoft จะมาไขข้อสงสัยให้ค่ะ
นายจ้างต้องจ่าย “ค่าชดเชยพิเศษกรณี” ไหนบ้าง?
นายจ้างจะต้องทำการจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ให้กับลูกจ้างในกรณีตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ดังนี้
ค่าชดเชยพิเศษกรณีเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน
ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ซึ่งนายจ้างจะต้องทำการแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้างนั่นเอง
แต่หากนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ดังนี้
- นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
- หากลูกจ้างมีอายุงานครบ 6 ปีขึ้นไป ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยพิเศษเพิ่มอีกจำนวนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี
- ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน
ค่าชดเชยพิเศษกรณีย้ายสถานประกอบกิจการ
ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบ สำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างจะต้องทำการแจ้งลูกจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการย้ายสถานประกอบกิจการ
หากลูกจ้างไม่สะดวกใจหรือไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ50 ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับนั่นเอง และที่สำคัญ หากนายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบเรื่องการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
สรุปค่าชดเชยพิเศษ หมายความว่าอย่างไร นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษกรณีไหนบ้าง
โดยสรุปแล้ว “ค่าชดเชยพิเศษ” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมจากค่าชดเชยปกติ เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง เพราะเหตุกรณีพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน และกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง ซึ่งหากนายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือชี้แจงสาเหตุการเลิกจ้างจะต้องทำการจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามที่กฎหมายได้กำหนด