สงสัยกันไหมคะ ว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราส่งเงินสมทบประกันสังคมไปทุกเดือน จะได้รับสิทธิประกันสังคมอะไรบ้าง มาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย
อ่านบทความเกี่ยวกับประกันสังคมเพิ่มเติม
- วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ ง่ายๆ ด้วยเลขบัตรประชาชน
- รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
- นายจ้างควรรู้ รายได้ไหน ที่ต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง
- ความสำคัญและวิธีการส่งเงินสมทบประกันสังคม
ว่าด้วยเรื่องของสิทธิประกันสังคม
สิทธิประกันสังคม เป็นกองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม ให้ได้รับประโยชน์ทดแทน โดยสิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิประโยชน์ร่วมกันระหว่างนายจ้างและพนักงานในบริษัท นับได้ว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของบริษัท เพื่อรองรับการเจ็บป่วยต่าง ๆ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ให้กับพนักงาน ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมไปถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เรียกได้ว่าเปรียบเสมือนเป็นการสร้างหลักประกันในการทำงานให้แก่พนักงานตลอดช่วงของการทำงานไปจนถึงเกษียณอายุเลยทีเดียว
Q: เราจะเช็กสิทธิประกันสังคมด้วยตนเองได้อย่างไร
A: เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของประกันสังคม
สำหรับการเช็กสิทธิประกันสังคมในปัจจุบันนั้นสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมด้วยตนเองได้เลย ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมด้วยตนเอง โดยสามารถเช็กสิทธิประกันสังคมด้วยตนเอง 2 ช่องทาง ได้แก่
- เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์ของประกันสังคม
- เช็กสิทธิประกันสังคมผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect
Q: เราจะได้รับสิทธิประกันสังคมอะไรบ้าง
A: ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม
เมื่อเราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไปทุก ๆ เดือน ก็มักตั้งข้อสงสัยหรือตั้งคำถามว่าเราส่งเงินสมทบไปแล้วเราจะได้อะไรกลับมา สำหรับสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม ได้แก่
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีว่างงาน
Tips! อ่านบทความต่อเพิ่มเติมได้ที่: รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
Q: กรณีลาออกจากงานและต้องการรักษาสิทธิ ผู้ประกันตนต้องทำอย่างไร
A: สมัครมาตรา 39
กรณีที่ผู้ประกันตนในมาตรา 33 ลาออกจากงานและต้องการรักษาสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถสมัคร “มาตรา 39” ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพื่อรักษาสิทธิ 6 กรณี ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข
Q: สิทธิประกันสังคมสำหรับคนว่างงานจะได้รับเงินชดเชยอย่างไร
A: ขึ้นทะเบียนว่างงานที่เว็บไซต์กรมแรงงาน และมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้างหรือลาออกโดยผู้ประกันตนต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์ของกรมจัดหาแรงงาน โดยเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทะเบียนว่างงานนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย ทั้งนี้ผู้ประกันตนจะต้องทำการลงทะเบียนว่างงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่สิ้นสุดสัญญาการจ้าง
กรณีที่ได้มีการลงทะเบียนว่างงานเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ กรณีถูกเลิกจ้างหรือโดนไล่ออก (โดยไม่มีความผิด) และกรณีที่ลาออกจากงานเอง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
กรณีถูกเลิกจ้างหรือโดนไล่ออก
จะได้รับเงินชดเชยว่างงานในอัตราร้อยละ 50 โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ปีละไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน
กรณีลาออกจากงานเอง
จะได้รับเงินชดเชยว่างงานในอัตราร้อยละ 30 โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ปีละไม่เกินไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน
Q: ผู้ประกันตนเปลี่ยนสถานพยาบาลได้อย่างไร
A: เปลี่ยนได้ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ผ่านช่องทางออนไลน์และสำนักงานประกันสังคม
สำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 ที่ต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ สามารถเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้งต่อปี ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี และกรณีย้ายที่ทำงานหรือที่พักอาศัยข้ามจังหวัด สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลระหว่างปีได้
ผู้ประกันตนที่มีความประสงค์แจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาล สามารถแจ้งเปลี่ยนได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ เว็บไซต์ของสำนักงาน www.sso.go.th แอปพลิเคชัน SSO Connect และ Line Official SSO
Q: กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้บริการทางการแพทย์ได้ที่ไหนบ้าง
A: รักษาได้ทุกโรงพยาบาล
กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วนนั้น สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยจะต้องทำการสำรองจ่ายก่อนและนำหลักฐานมาเบิกทดแทนได้ตามอัตราที่กำหนด
กรณีที่ฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีดังนี้
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วมด้วย
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบฉับพลัน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจอันตรายต่อชีวิต
สรุปไขข้อสงสัยเรื่องเช็คสิทธิประกันสังคม
สิทธิประกันสังคมถือได้ว่าเป็นการสร้างหลักประกันในช่วงชีวิตของการทำงาน เพื่อรองรับการเจ็บป่วยต่าง ๆ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมไปถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
นอกจากข้อสงสัยเรื่องการเช็กสิทธิประกันสังคมที่เราได้นำมาฝากนั้น ยังมีสิทธิประกันสังคมที่น่าสนใจอีกมาก หากสนใจสามารถศึกษาหรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมหรือสามารถติดตามบทความดี ๆ ได้ที่ HumanSoft ได้นะคะ