รู้หรือไม่ นายจ้างควรให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ได้ไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันนี้ HumanSoft มีข้อมูลดี ๆ มาฝาก มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Q&A ทำงานและทำโอทีในวันแรงงาน ต้องได้รับค่าแรงกี่เท่า?
- Q&A พนักงานทำกะกลางคืน (Night Shift) ต้องคำนวณค่าจ้างอย่างไร
- Q&A ลูกจ้างทำงานวันหยุด ต้องได้รับค่าจ้างวันหยุดเท่าไหร่?
- Q&A อาชีพใดบ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับโอที ตามกฎหมายโอที
- โอที 2 แรง คืออะไร มีวิธีคิดโอที 2 แรงอย่างไร
Q: พนักงานควรทำ OT ไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์?
OT ย่อมาจากคำว่า Overtime หมายถึงการทำงานล่วงเวลาที่นอกเหนือไปจากเวลาทำงานปกติ เช่น การทำงานต่อจากเวลาเลิกงาน (ล่วงเวลาวันทำงานปกติ) การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งการทำงานล่วงเวลา (OT) นั้นมีขอบเขตความจำเป็นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่นายจ้างควรรู้ มาหาคำตอบไปด้วยกันกับ Q&A นี้เลย
A: พนักงานควรทำ OT ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด
ตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น เช่น
- อาจให้ลูกจ้างทำได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
- อาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน
- อาจให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
ทั้งนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดรวมกันเกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ในการทำงานล่วงเวลานายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- การทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกตินายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน
- การทำงานในวันหยุด หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามเวลาปกตินายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง (สำหรับพนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด) หรือไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยตามจำนวนผลงานที่ทำได้ (สำหรับพนักงานที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด)
- การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หรือล่วงเวลาวันหยุดนักขัตฤกษ์นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน
Tips! อ่านบทความเพิ่มเติมต่อได้ที่ >> ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุดหมายถึงอะไร ได้ค่าตอบแทนอย่างไร
Q: หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำ OT เกินเวลาตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร?
A: หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนี้
กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปพนักงานควรทำ OT ไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์
กล่าวโดยสรุป กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) เว้นแต่กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงยินยอมกัน กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันจะเกิดความเสียหายแก่งาน หรือกรณีเป็นกิจการเกี่ยวกับการให้บริการ ซึ่งการทำงานล่วงเวลาในกรณีดังกล่าวนายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้การทำงานล่วงเวลารวมกันต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากองค์กรนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย