PageView Facebook
date_range 19/09/2023 visibility 3223 views
bookmark HR Knowledge
Checklist อาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม - blog image preview
Blog >Checklist อาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม

“ออฟฟิศซินโดรม” โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน จะมีอาการแบบไหนที่เข้าข่ายบ้าง มาเช็กอาการไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลย


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของวัยทำงาน

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด กลุ่มอาการเหล่านี้มักเกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเกิดได้จากท่านั่งในการทำงานที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง ไหล่ หรือแขนเป็นต้น หากปล่อยไว้นานโดยที่ไม่ได้รับการรักษา หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอาจทำให้กลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้


ปัจจุบันคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “ออฟฟิศซินโดรม” เพราะเป็นโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องด้วยมักมีพฤติกรรมการทำงานด้วยการนั่งเก้าอี้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยไม่ได้ลุกหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการออฟฟิศซินโดรมสูง


Checklist อาการที่เข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม



ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เกิดจากการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการนั่ง การเดินที่ไม่ถูกต้อง และอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงและอักเสบได้ โดยอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลัง
  • ปวดตึงบริเวณคอ บ่า และไหล่
  • ปวดหัว หรือในบางครั้งมีอาการปวดไมเกรนร่วมด้วย
  • ปวดข้อมือ นิ้วล็อค มือชา
  • ปวดตึงที่ขา หรือเหน็บชา
  • ปวดตา ตาพร่า

ลองเช็กอาการของตัวเองดูนะคะว่าคุณมีอาการข้างต้นหรือไม่ หากคุณมีอาการเหล่านี้ นั่นหมายความว่าคุณเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม หากเริ่มมีอาการเจ็บปวดดังกล่าวก็อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานและความสุขในการทำงานอาจลดลงได้


ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม



โรงพยาบาลสมิติเวช ได้เผยข้อมูลเชิงสถิติว่า “คนไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำงานในออฟฟิศ มักมีอาการออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งอาการของออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งสภาพร่างกาย พฤติกรรม สภาพแวดล้อมหรือแม้กระทั่งอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม โดยมีรายละเอียดดังนี้


นั่งไม่ถูกต้อง หรือนั่งหลังค่อม

การนั่งหลังค่อมเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการนั่งหลังค่อมทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ สะบัก เกิดการเมื่อยตึงอยู่ตลอดเวลา

 

นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

การจ้องจอคอมเป็นเวลานาน หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานานเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ปวดตา หรือตาพร่ามัวได้

 

อุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่เหมาะสม

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้ที่ไม่มีพนักพึงหรือไม่สามารถปรับเอนได้

 

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่างบริเวณที่ทำงานไม่เพียงพอ หรือมากเกินไป หรือมีแสงสะท้อนบนจอคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากไฟเพดานและแสงจากภายนอก ส่งผลให้เกิดอาการปวดตา ตาพร่า หรืออาการปวดหัวได้


วิธีป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้น

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ

เพื่อให้ร่างกายและกล้ามเนื้อเกิดความยืดหยุ่น อีกทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายอีกด้วย


2. ปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงาน

เปลี่ยนท่านั่งในการทำงานให้เหมาะสม เช่น นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังค่อมหรือห่อไหล่ รวมไปถึงการวางมือและแขน ควรวางแขนท่อนล่างให้อยู่ในแนวเส้นตรงตั้งฉากประมาณ 90 องศากับแขนท่อนบน


3. เปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของตนเอง

ควรเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานให้เหมาะกับตนเอง เช่น ปรับความสูงของเก้าอี้ให้เหมาะสม มีพนักพิงพอดีกับหลังและสามารถเอนหลังได้ หลีกเลี่ยงเก้าอี้ที่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ควรเลือกโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระของตนเอง





4. เปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30-60 นาที

เนื่องจากมนุษย์ออฟฟิศอย่างเรา ๆ นั้นใช้เวลาในการนั่งทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ดังนั้นควรที่จะลุกจากที่นั่ง เพื่อยืดเส้นสายและพักผ่อนสายตาบ้าง


5. ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

การป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรม เบื้องต้นนั้นสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและสไตล์การใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมเพื่อลดความเครียดและความกดดันต่อร่างกาย เช่น การนั่ง การยืน


6. ระยะห่างระหว่างจอและแสงที่เหมาะสม

สายตาควรอยู่ในแนวราบและอยู่ระดับเดียวกับขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ และควรปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีแสงที่เหมาะสมไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป


สรุปอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม เรียกได้ว่าเป็นโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานจึงส่งผลให้เกิดอาการปวดต่าง ๆ ตามมา หรือที่เราเรียกกันว่าออฟฟิศซินโดรม แม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและความสุขในการทำงานได้ ดังนั้นควรที่จะรีบแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้