การหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้าง ใครบ้างเป็นผู้มีภาระหน้าที่เกี่ยวข้อง และมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร มาหาคำตอบไปด้วยกันจากบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- กยศ.หักเงินเดือนมีวิธีคำนวณแบบใด นายจ้างต้องเตรียมตัวอย่างไร
- Q&A พนักงานลากิจเกิน นายจ้างหักเงินได้ไหม
- ระบบเงินเดือนออนไลน์ ผู้ช่วยมือขวาของ HR ยุคใหม่
- ระบบตรวจสอบเงินเดือนออนไลน์ คืออะไร ทำไมทุกองค์กรควรใช้?
ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย กยศ.หักเงินเดือน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินทุนแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างการศึกษา โดยมีเงินทุนตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้กู้ยืมและองค์กรนายจ้างในการดำเนินการชำระเงินกู้เมื่อครบกำหนดชำระ
ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 ตามมาตรา 51 วรรค 1 มีสาระสำคัญความว่า ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนซึ่งมีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด
ใครบ้างที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหน้าที่เกี่ยวกับการหักเงินเดือนผู้กู้ยืม กยศ.
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและหน้าที่เกี่ยวกับการหักเงินเดือนผู้กู้ยืม กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้าง มีดังนี้
1. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีหน้าที่ดังนี้
- แจ้งนายจ้างเกี่ยวกับวันที่เริ่มและจำนวนเงินที่จะต้องหักของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงาน/ลูกจ้าง
- ติดตามให้นายจ้างรับผิดชอบในหน้าที่ที่ต้องนำส่งเงินให้กรมสรรพากร ตามจำนวนที่แจ้งและภายในระยะเวลาตามกฎหมาย
- ติดตามเงินจากกรมสรรพากร
2. องค์กร/นายจ้าง มีหน้าที่ดังนี้
- หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ของพนักงาน/ลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมกองทุน เป็นต้นว่า เงินเดือน/ค่าจ้าง
- นำส่งเงินให้กรมสรรพากร ภายในกำหนดระยะเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
หมายเหตุ นายจ้างจะดำเนินการหักเงินเดือนได้เมื่อกองทุนได้แจ้งต่อนายจ้างอย่างเป็นทางการเท่านั้น
3. กรมสรรพากร มีหน้าที่ดังนี้
- ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับเงินจากองค์กรนายจ้างกับการนำส่งเงินให้แก่กองทุน
- รับเงินจากที่องค์กรนายจ้างนำส่ง
- นำส่งเงินให้แก่กองทุน
4. ผู้กู้ยืม มีหน้าที่ดังนี้
- สำหรับพนักงาน/ลูกจ้างใหม่ ให้แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมต่อนายจ้างภายใน 30 วัน
- ยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล/เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมและการชำระคืน
- ให้นายจ้างหักเงินเดือนตามจำนวนที่กองทุนแจ้ง เพื่อชำระคืนกองทุน
นายจ้างจะต้องดำเนินการนำส่งเงินกู้ยืมตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง หลังจากได้รับหนังสือแจ้งหักเงินเดือนจากกองทุนกยศ.
1. สมัครสมาชิกยื่นภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ภ.อ.01 ของกรมสรรพากร (e-Filing) พร้อมลงทะเบียนยื่นภาษี
2. สมัครขอใช้ระบบ e-PaySLF เข้าสู่ระบบเพื่อรับข้อมูลรายชื่อและจำนวนเงินที่ต้องหักจากระบบ
3. บันทึกรายการและจำนวนเงินที่หักได้เข้าสู่ระบบ
4. พิมพ์ชุดชำระ (Pay in slip) และนำไปชำระตามช่องทางที่กำหนด
5. เมื่อหักเงินแล้วให้นำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
นายจ้างไม่หักเงินลูกจ้างที่ติดหนี้ กยศ. ได้หรือไม่
พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 ตามมาตรา 51 วรรค 4 มีสาระสำคัญความว่า หากนายจ้าง หรือผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) ไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หักและไม่ได้นำส่ง นำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหักและนำส่งเกินระยะเวลา นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้เงินในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่ทางกองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของยอดเงินที่ต้องนำส่งหรือตามจำนวนเงินที่ขาดไป ดังนั้นหากในองค์กรมีพนักงานหรือลูกจ้างที่ติดหนี้ กยศ. และครบกำหนดชำระหนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นายจ้างจะต้องทำการหักหนี้ กยศ. จากเงินเดือนเพื่อนำส่งให้กองทุน
กรณีที่นายจ้างไม่สามารถหักเงินได้พึงประเมินลูกจ้างตามจำนวนที่กองทุนได้แจ้งไว้ได้ นายจ้างจะต้องทำรายการแจ้งข้อเท็จจริงต่อกองทุนผ่านระบบ e-PaySLF โดยให้นายจ้างนำส่งรายชื่อ และจำนวนเงินที่สามารถหักได้ พร้อมแจ้งเหตุสำหรับรายที่ไม่สามารถหักได้ หรือหักได้แต่ไม่เต็มจำนวน โดยเหตุอันเป็นข้ออนุโลมได้มีดังนี้
- ลูกจ้างลาออก ถูกปลดออก ถูกไล่ออก หรือโอนย้าย
- รายได้คงเหลือของลูกจ้างไม่พอให้หักเงินเพื่อชำระหนี้
- ลูกจ้างลางานโดยไม่ได้รับเงินเดือน
- ลูกจ้างได้รับโทษทางวินัยไม่ได้รับเงินเดือน
- ลูกจ้างชำระหนี้เสร็จสิ้น
- ลูกจ้างมีสถานะพักการจ้างงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน
- ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงาน
- ลูกจ้างเสียชีวิต
สรุป กยศ. หักเงินเดือน ข้อกฎหมายที่นายจ้างควรรู้
กล่าวโดยสรุป เมื่อองค์กรนายจ้างได้รับหนังสือแจ้งให้หักเงินได้พึงประเมินของลูกจ้าง (ผู้ติดหนี้กยศ.) อย่างเป็นทางการ นายจ้างจะต้องหักเงินลูกจ้างตามยอดที่กองทุนแจ้งเพื่อนำส่ง โดยดำเนินการตามขั้นตอนและเงื่อนไขของกองทุน หากนายจ้างละเว้นการหักเงินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องชดใช้เงินในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่ทางกองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของยอดเงินที่ต้องนำส่งหรือตามจำนวนเงินที่ขาดไป
อ้างอิง: กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา