กรณีนายจ้างต้องการโยกย้ายตำแหน่งงานของพนักงาน สามารถทำได้เลยหรือไม่ หรือต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งงานของพนักงานที่ HR ควรรู้
- Career Path คืออะไร? วางแผนเตรียมตัวอย่างไรให้ก้าวหน้า
- เทคนิคเพิ่มโอกาสเลื่อนตำแหน่ง ของพนักงานนอกออฟฟิศ
- ระดับตำแหน่งงาน Supervisor กับ Lead ต่างกันอย่างไร?
Q: การย้ายตำแหน่งงาน ต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อนหรือไม่
การย้ายตำแหน่งงาน คือการที่พนักงานได้รับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานจากตำแหน่งหนึ่งไปยังตำแหน่งอื่นภายในองค์กร ซึ่งการย้ายตำแหน่งงานอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุหลายกรณี เช่น การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร การพัฒนาความสามารถของพนักงาน หรือการตอบสนองต่อความต้องการทางธุรกิจ สำหรับพนักงานในระบบธุรกิจองค์กรแล้วการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนตำแหน่งถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป
A: การย้ายตำแหน่งงาน หากเป็นผลดีแก่พนักงานมากกว่าที่เป็นอยู่ นายจ้างสามารถทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงาน แต่หากการย้ายตำแหน่งงานเป็นผลเสียแก่พนักงานมากกว่าที่เป็นอยู่ นายจ้างไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน
การย้ายตำแหน่งงาน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ตามกฏหมายคุ้มครองแรงงานนายจ้างมีข้อปฏิบัติอันชอบ 2 กรณี คือ กระทำโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงาน และไม่สามารถกระทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน ดังนี้
กรณีที่ 1 นายจ้างสามารถทำโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงาน
การย้ายตำแหน่งงาน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยเป็นคุณ หรือเป็นผลดีแก่พนักงานมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น การย้ายให้พนักงานดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือได้รับค่าตอบแทนมากกว่าเดิม และการย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งนั้นจะต้องไม่มีการลดตำแหน่ง ลดเงินเดือน หรือลดสวัสดิการที่พนักงานเคยได้รับ กรณีนี้นายจ้างสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงานก่อน
กรณีที่ 2 นายจ้างไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน
การย้ายตำแหน่งงาน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นคุณ หรือเป็นผลเสียแก่พนักงานมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น เดิมพนักงานดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนก แต่ต่อมาถูกปลดหรือลดตำแหน่งให้เป็นพนักงานทั่วไป หรือ เดิมพนักงานได้รับเงินเดือนเดือนละ 25,000 บาท ต่อมานายจ้างประสบภาวะธุรกิจขาดดุลจึงปรับลดเงินเดือนเหลือเดือนละ 15,000 บาท การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นคุณแก่พนักงาน นายจ้างไม่สามารถทำได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อน และคำสั่งเช่นนี้ของนายจ้างถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับแก่พนักงาน
Q: พนักงานปฏิเสธการย้ายตำแหน่งงาน สามารถเลิกจ้างได้หรือไม่
A: กรณีที่ 1 พนักงานปฏิเสธคำสั่งย้ายตำแหน่งงานที่เป็นคุณแก่ตน และถ้าไม่ย้ายจะส่งผลเสียต่อองค์กร ถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างพนักงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การย้ายตำแหน่งเนื่องจากการปรับโครงสร้างการทำงานและไม่เป็นการลดทอนผลประโยชน์แก่พนักงาน นายจ้างสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องขอความยินยอมจากพนักงานก่อน หากพนักงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ถือว่าจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีร้ายแรง ทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างพนักงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
A: กรณที่ 2 พนักงานปฏิเสธคำสั่งย้ายตำแหน่งงานที่ไม่เป็นคุณแก่ตน ไม่ถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งร้ายแรง หากนายจ้างจะเลิกจ้างพนักงาน จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงาน
การที่พนักงานปฏิเสธการย้ายตำแหน่งงานใหม่ที่ได้รับผลประโยชน์ต่ำกว่าเดิมไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เพราะคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากนายจ้างจะเลิกจ้างพนักงานด้วยเหตุผลนี้จะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่พนักงาน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย
สรุป Q&A ย้ายตำแหน่งงาน ต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานก่อนหรือไม่
หากนายจ้างต้องการย้ายตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานแก่พนักงาน นายจ้างจำเป็นต้องพิจารณาว่าการย้ายตำแหน่งนั้นไม่เป็นการลดทอนผลประโยชน์ไปกว่าเดิมที่พนักงานเคยได้รับ กล่าวคือต้องไม่เป็นการลดตำแหน่ง เงินเดือน หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงาน เพื่อให้คำสั่งในการบังคับบัญชาพนักงานเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ในส่วนของพนักงานเองหากมีคำสั่งย้ายตำแหน่งสามารถปฏิเสธได้ในกรณีที่การย้ายนั้นมีผลลดทอนผลประโยชน์ไปกว่าเดิม แต่หากเป็นกรณีการย้ายที่มีผลเป็นคุณแก่ตนเอง และถ้าไม่ย้ายจะส่งผลเสียต่อองค์กร หากปฏิเสธก็จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีร้ายแรง