การเลิกจ้างพนักงานไม่ใช่แค่เรื่องการตัดสินใจเชิงธุรกิจ แต่ยังมีข้อกฎหมายและความเห็นใจเข้ามาเกี่ยว บทความนี้เราจะมาแนะนำสิ่งที่ HR ไม่ควรทำเมื่อเลิกจ้างพนักงาน
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- Q&A ค่าตกใจตามกฎหมายแรงงาน ต้องจ่ายยังไง?
- Q&A ไขข้อสงสัย นายจ้างออกใบเตือนซ้ำกี่ครั้ง จึงเลิกจ้างได้?
- Q&A พนักงานลาป่วยบ่อย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่?
- Q&A เลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
การเลิกจ้างพนักงาน
การเลิกจ้างพนักงานเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวของพนักงานและองค์กร ซึ่งการเลิกจ้างพนักงานนั้นถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากในวงการธุรกิจเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างพนักงานด้วยเหตุผลทางการเงิน การปรับโครงสร้างองค์กร หรือการเลิกจ้างพนักงานเพราะผลการปฏิบัติงานของพนักงานไม่เป็นไปตามคาด การตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะเป็นการตัดสินใจที่กระทบต่อชีวิตของบุคคลหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรได้
สิ่งที่ HR ไม่ควรทำ เมื่อกำลังจะเลิกจ้างพนักงาน
แม้การเลิกจ้างจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและน่าเศร้า แต่ในฐานะ HR ที่มีความเป็นมืออาชีพ การจัดการด้วยความรอบคอบและการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพนักงานเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำข้อควรระวังและสิ่งที่ HR ไม่ควรทำในกระบวนการเลิกจ้างพนักงานเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรมมากที่สุด
1. การเลิกจ้างโดยไม่เป็นทางการ
การเลิกจ้างควรดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยมีการพูดคุยในสถานที่ที่เหมาะสมและเป็นส่วนตัว การแจ้งเลิกจ้างผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่น อีเมล ข้อความ หรือการพูดคุยสั้น ๆ โดยไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ถือว่าไม่เหมาะสม และอาจทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม
2. ไล่ออกโดยปราศจากการเตือน
การเลิกจ้างพนักงานแบบกะทันหันนั้นสามารถกระทำได้หากพนักงานมีความผิดร้ายแรง แต่หากพนักงานไม่ได้มีความผิดร้ายแรง อาจสร้างความไม่พอใจและเกิดการฟ้องร้องในภายหน้าได้ ดังนั้น HR จึงควรที่จะมีการตักเตือนพนักงานให้ทราบถึงพฤติกรรมการทำงานของตนเอง เช่น การตักเตือนด้วยวาจา การส่งใบเตือน ซึ่งวิธีเหล่านี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมให้ดีขึ้น
อีกทั้งวิธีการเหล่านี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่องค์กรจะถูกฟ้องร้องกลับในกรณีเลิกจ้างทันที อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจต้องใช้เวลามากขึ้นในการประเมินผลการทำงานเป็นระยะ เช่น ทุกสัปดาห์ แต่ก็ยังดีกว่าการเลิกจ้างโดยไม่มีการตักเตือนล่วงหน้า
3. อย่ามองข้ามการจัดทำเอกสาร
การเลิกจ้างทุกครั้งควรมีการจัดทำเอกสารที่ครอบคลุม ตั้งแต่ใบแจ้งการเลิกจ้าง เหตุผลในการเลิกจ้าง และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าชดเชย การขาดเอกสารอาจทำให้บริษัทเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทางกฎหมายได้
4. อย่าทำการเลิกจ้างโดยไม่ให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
HR ต้องมั่นใจว่าพนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) และสิทธิการประกันสังคม การละเลยสิ่งเหล่านี้อาจนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายและส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทได้
5. สนทนาโดยไม่มีพยาน
แม้การเลิกจ้างพนักงานจะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างนายจ้างและพนักงาน และเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีความเป็นส่วนตัว แต่แนวทางที่ดีควรมีพยานในการร่วมการประชุมเลิกจ้างด้วยเพื่อเป็นหลักฐานและยืนยันว่าการเลิกจ้างเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั่วไปแล้วพยานมักเป็นหัวหน้าฝ่าย HR หรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย
6. สร้างบรรยากาศกำกวม ไม่ชัดเจน
ควรแจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่ควรพูดจาคลุมเครือหรือสร้างความสับสน
7. ปล่อยให้พนักงานเข้าถึงการใช้ทรัพย์สินของบริษัท
หลังจากแจ้งการเลิกจ้างพนักงานเรียบร้อยแล้ว หากเป็นการเลิกจ้างโดยทันที ควรให้พนักงานส่งคืนทรัพย์สินของบริษัทอย่างรวดเร็ว เช่น บัตรผ่านประตูและแล็ปท็อป เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย
แต่หากเป็นการเลิกจ้างล่วงหน้าพร้อมกำหนดวันที่ชัดเจน ควรนัดหมายให้พนักงานส่งคืนทรัพย์สินและเอกสารสำคัญทั้งหมดตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นระเบียบและไม่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท
สรุป HR ห้ามพลาด! สิ่งที่ HR ไม่ควรทำเมื่อกำลังเลิกจ้างพนักงาน
การเลิกจ้างพนักงานเป็นกระบวนการที่ต้องทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง HR มีบทบาทสำคัญในการทำให้การเลิกจ้างเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส การสื่อสารที่ชัดเจน การเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของพนักงาน รวมถึงการจัดทำเอกสารและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและรักษาภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร