สายงาน HR ที่เป็นหัวใจขององค์กรนั้น มีหน้าที่อะไรบ้าง มาดูกันในบทความนี้เลย
ชีวิตการทำงานปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่โควิด – 19 ทำให้ “โลกการทำงาน” เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันย้อนคืน จนถึงปัจจุบัน ที่นอกจากจะมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย คนทำงานยังต้องเผชิญกับการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาการจ้างงานอีกด้วย
จากเหตุการณ์เหล่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า “สถานะ” การทำงานของเรานั้นเป็นสิ่งไม่แน่นอน ทั้งองค์กรและคนทำงานยังคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ รวมถึงสายงาน HR ที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรแล้ว ยิ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยงาน HR นั้น มีหน้าที่มากมายดังนี้
ทำความรู้จักสายงาน HR
เพราะทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร และงาน HR ในปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในอดีต HR จึงเปรียบเสมือนหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ คัดค้นเข้า เอาคนออก ตรวจบัตรตอก ออกใบเตือน อย่างที่คนภายนอกเข้าใจอีกต่อไป ซึ่งงาน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล Human Resources หรือ HR มีหลายส่วนงานเช่นเดียวกับสายงานอื่นๆ แบ่งตามหน้าที่หลักได้ดังนี้
หน้าที่หลักๆ ของงาน HR
1. วางแผนอัตรากำลังคน (Manpower Planning)
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น Manpower Planning, HR Planning เป็นต้น
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- วิเคราะห์หน้าที่งาน (Job Analysis)
- วางแผนการใช้กำลังคน เพื่อจัดทำโครงสร้างบริษัท (Organization Chart) มีกี่แผนก แต่ละแผนกต้องการพนักงานกี่คน
- ควบคุมจำนวนพนักงานให้สอดคล้อง เหมาะสมกับการดำเนินงานภายในองค์กร
2. สรรหาว่าจ้าง (Recruitment & Selection)
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น Recruitment, Recruiter, HR officer หลังๆ นี้ก็จะได้ยินชื่อตำแหน่ง Talent Acquisition
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- รับการร้องขอพนักงานใหม่ (Manpower Request) หรือมาทดแทน
- จัดหาหาพนักงานที่มีความรู้ ทักษะ คุณสมบัติที่ตรงความต้องการ
- ลงประกาศตำแหน่งงาน (Job Posting)
- ประสานงาน นัดสัมภาษณ์งาน (Job Interview)
- จัดหาเครื่องมือในการทดสอบผู้สมัคร (Candidate)
- แจ้งผลการสัมภาษณ์ แจ้งขอเสนอการจ้างงาน
- จัดทำสัญญาจ้าง จัดเก็บประวัติพนักงานรวมถึงการดูแล ส่งพนักงานเข้าประจำส่วนงาน
3. บริหารค่าตอบแทน และสวัสดิการ (Compensation & Benefit)
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น Payroll, Payroll Management, Compensation & Benefit officer, HR Welfare ฯลฯ
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- คำนวณเงินเดือน (Salary) ค่าแรง และคค่าตอบแทนอื่น เช่น ค่าคอมมิสชั่น ค่าล่วงเวลา ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น
- การวางแผน และการจัดการเงินเดือน
- ประสานงานค่าชดเชยต่างๆ สวัสดิการ เช่น โบนัส วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย ประกันสังคม ประกันสุขภาพ เงินออม กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Providence Fund) ฯลฯ
4. พัฒนาบุคลากร (Training & Development)
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น HRD, HR Development, Training, Learning & Development, Performance Management เป็นต้น
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- การวางแผนการ จัดหา หรือออกแบบหลักสูตร ประสานงาน และจัดอบรม
- นำเสนอ บริหารโครงการพัฒนาความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่องค์กรต้องการให้แก่พนักงาน
- การออกแบบเครื่องมือทดสอบ วัดผลความรู้ ความสามารถพนักงาน
- วางแผน พัฒนาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัตงาน (Performance Management System PMS) ประมวล วิเคราะห์ การพัฒนาความสามารถของพนักงานนำส่งผู้บริหาร
5. รวบรวมข้อมูลและประสานงาน (Integrate)
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น Labor Relations, Employee Relations, Grievance, Discipline เป็นต้น
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- ควบคุมดูแลกฎระเบียบ วินัยพนักงาน ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายแรงงาน
- จัดทำระเบียบข้อบังคับพนักงานในองค์กร
- สื่อสาร / ประกาศระเบียบข้อบังคับของบริษัท
- ควบคุมการกระทำความผิด การสอบสวน การประสาน รวมถึงการลงโทษ
- บริหารจัดการข้อร้องเรียนพนักงาน ดูแลส่งเสริมสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงาน และองค์กร เช่น กิจกรรมกีฬาสี, happy workplace เป็นต้น
6. ระบบสารสนเทศ HR (Human Resource information system)
ชื่อตำแหน่ง : HRIS
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- ออกแบบระบบฯ เพื่อการสนับสนุนงาน HR
- การบริหารจัดการฐานข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับงาน HR
- ดูแล รักษา ซ่อมบำรุงระบบสารสนเทศ
- ให้การสนับสนุนการจัดทำรายงาน เพื่อนำเสนอผู้บริหาร รวมถึงการศึกษาระบบสารสนเทศที่มีผลต่อภาคธุรกิจในอนาคต
7. งานทะเบียน เอกสารต่างๆ
ชื่อตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น HR Admin, Personal Administration เป็นต้น
มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
- การจัดเก็บ การบันทึกข้อมูลทะเบียนพนักงาน
- การเบิก – จ่าย จัดเตรียมเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
- การบริหารจัดการสัญญาจ้าง และสัญญาที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- บันทึกข้อมูลพนักงาน เช่น ประวัติการทำงาน ข้อมูลเงินเดือน ข้อมูลการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ
- ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้กับพนักงานในองค์กร
- ดำเนินการเอกสารการทำ Visa และ Work Permit ประสานงานระหว่างองค์กร และหน่วยงานราชการ เช่น ประกันสังคม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
จากหน้าที่ของงานดังที่กล่าวมานั้น ทำให้ทราบได้ว่า HR ไม่ใช่ทำเพียงแค่คัดค้นเข้า เอาคนออก ตรวจบัตรตอก ออกใบเตือน อย่างที่เคยได้ยิน แต่มีภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะ “บุคลากร” คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร เมื่อ HR สามารถจัดการงานได้เป็นอย่างดี บุคลากรในองค์กรก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน