PageView Facebook
date_range 23/01/2024 visibility 12118 views
bookmark HR Knowledge
ไม่ซ้อมดับเพลิงภายในองค์กร ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ? - blog image preview
Blog >ไม่ซ้อมดับเพลิงภายในองค์กร ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ?

ทุกคนสงสัยกันไหมคะว่า การซ้อมดับเพลิงภายในองค์กรนั้น สำคัญอย่างไร และหากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ไปติดตามได้ในบทความนี้กันเลย


อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม



การซ้อมดับเพลิง


การซ้อมดับเพลิง ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เป็นการจัดการให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการใช้อุปกรณ์หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยที่เกี่ยวกับเพลิงไหม้ในสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย สนับสนุนความปลอดภัยและการตอบสนองทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน


ควรจัดอบรมระบบดับเพลิงเมื่อใด?


สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป หรืออาคารสำนักงานที่มีสถานประกอบกิจการอยู่รวมกัน ควรมีการจัดฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ทุกคนที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในอาคารได้ทราบถึงการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยตามมาตรฐาน

 

นอกจากนี้เมื่อภายในอาคารมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างตัวอาคาร นายจ้างจะต้องจัดอบรมระบบดับเพลิงให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในอาคารอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงข้อมูลของแผนผังของอาคารและปรับเปลี่ยนแผนการหนีไฟเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้ทราบโดยทั่วกัน


ทำไมจึงควรให้ความสำคัญกับการซ้อมดับเพลิง


หลายคนคงสงสัยว่าทำไมองค์กรจึงต้องให้พนักงาน อบรม หรือฝึกซ้อมการดับเพลิงทุก ๆ ปี วันนี้เรามีเหตุผลและความสำคัญของการซ้อมดับเพลิงมาฝาก ไปดูกันเลย



ผู้เข้าอบรมเข้าใจถึงสาเหตุและการป้องกันอัคคีภัย

เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในอาคารจะลุกลามผ่านทางเชื้อเพลิงที่ถูกเก็บไว้ในอาคาร หรือวัสดุบางอย่างที่ติดไฟได้ง่าย เช่น พลาสติก, ไม้ เป็นต้น  ซึ่งผู้เข้าอบรมจะต้องทำความเข้าใจว่าวัสดุแบบไหนที่ไม่ควรเก็บสะสมไว้ในอาคาร เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการลุกลามของเพลิงไหม้

 

นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทของเพลิงไหม้ ซึ่งมีความแตกต่างกัน 5 ประเภท ดังนี้

 

  • เพลิงไหม้ประเภท A (Ordinary Combustibles) เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น ไม้ ผ้า เศษกระดาษ เป็นต้น
  • เพลิงไหม้ประเภท B (Flammable Liquids) เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวติดไฟที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน
  • เพลิงไหม้ประเภท C ( Electrical Equipment) เพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอยู่
  • เพลิงไหม้ประเภท D (Combustible Metals) เพลิงไหม้ที่เกิดจากโลหะที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ หรือโรงงานที่ผลิตโลหะ
  • เพลิงไหม้ประเภท K (Combustible Cooking) เพลิงไหม้ที่เกิดจากไขมันและน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารในครัว

 

การอบรมจะทำให้ผู้ที่เข้าอบรมได้ทราบถึงวิธีการดับไฟที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับประเภทของเชื้อเพลิง เนื่องจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีวิธีการดับที่แตกต่างกัน


ผู้เข้าอบรมสามารถประเมินสถานการณ์และอพยพหนีไฟเมื่อเกิดอัคคีภัยได้

เมื่อทุกคนผ่านการอบรมระบบดับเพลิงแล้ว จะสามารถประเมินสถานการณ์และไม่ตื่นตระหนกเมื่ออพยพต้องหนีไฟออกจากอาคารเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย รวมถึงเมื่อพบเห็นเพลิงไหม้ตรงหน้าจะสามารถเตือนผู้อื่นหรือระงับเหตุเบื้องต้นได้ทันที

 

ผู้เข้าอบรมเข้าใจการทำงานของอุปกรณ์และใช้งานได้ถูกต้อง

ในภาคปฏิบัติ การฝึกการใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิงถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก ในการนำมาใช้ในการระงับเหตุอัคคีภัยเบื้องต้น เช่น เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติภายในอาคารว่าทำงานอย่างไร และทำงานเมื่อไร, การใช้สายส่งน้ำดับเพลิง ซึ่งอยู่ในตู้ดับเพลิงที่ทางอาคารจัดเตรียมเอาไว้ หรือฝึกดับเพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาและแก๊สโดยการใช้ถังดับเพลิงอย่างถูกวิธี เป็นต้น


ไม่ซ้อมดับเพลิง ผิดกฎหมายหรือไม่ ?


กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ จึงได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคนฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟพร้อมกันอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนายจ้าง ลูกจ้างในการป้องกันและแก้ไขอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ

 

เนื่องจาก การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถค้นหาปัจจัยหรือจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยและดำเนินการป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากนายจ้างฝ่าฝืน จะมีโทษทางกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากตรวจพบว่าสถานประกอบกิจการใดไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


สรุปไม่ซ้อมดับเพลิงภายในองค์กร ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ?


นายจ้างควรมีการจัดการอบรมระบบดับเพลิงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากการซ้อมดับเพลิงภายในองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก หากพนักงานได้อบรมเกี่ยวกับเรื่องการดับเพลิง, ฝึกซ้อมการหนีไฟ, ฝึกการใช้อุปกรณ์, ก็จะทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและสามารถควบคุมเหตุเบื้องต้นที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยฝึกซ้อม ดังนั้น หากนายจ้างละเลยหรือฝ่าฝืน ไม่ทำการซ้อมดับเพลิงภายในองค์กร ถือว่ามีโทษทางกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้