เผย 6 กลยุทธ์ Employee Retention เจ๋ง ๆ ในการรักษาพนักงานที่เก่งและมีคุณภาพ ให้ร่วมงานกับองค์กรต่อไปในระยะยาว เพราะพนักงานทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Employee Recognition คืออะไร สำคัญกับองค์กรอย่างไร
- พัฒนา Employee Experience อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ
- Attrition Rate คืออะไร มีวิธีการคำนวณอย่างไร
- วิธีการคำนวณ Turnover Rate และกลยุทธ์ลดการเกิด Turnover Rate
รู้จักกับ “Employee Retention”
Employee Retention หรือ การรักษาพนักงาน เป็นกระบวนการที่บริษัทและองค์กรหลาย ๆ แห่ง นำมาใช้เพื่อดึงความเชื่อมั่น รวมไปถึงนำมาใช้เป็นแนวทางในการโน้มน้าวใจพนักงาน กลยุทธ์นี้ช่วยรักษาฐานพนักงานที่เก่ง และมีความสามารถสูงขององค์กรเอาไว้ได้นานยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่การโน้มน้าวใจที่องค์กรนิยมใช้ คือ การมอบสวัสดิการที่ดีและโอกาสในการเติบโตของหน้าที่การงาน, ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการมอบความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี หรือที่เรียกว่า Work-Life Balance นั่นเอง
มัดใจพนักงานให้อยู่ยาว ด้วยกลยุทธ์ Employee Retention
ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่พนักงานที่มีการแข่งขันสูง แต่ในด้านขององค์กรก็เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการรักษาพนักงานที่เก่ง และมีคุณภาพไว้กับองค์กร (Employee Retention) จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ HR ต้องให้ความสำคัญ เพราะพนักงานก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย วันนี้เรานำ กลยุทธ์ดี ๆ ที่จะมัดใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรยาว ๆ ด้วย Employee Retention มาฝาก ไปติดตามกันเลย
สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสาร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานตัดสินใจได้ว่าต้องการทำงานร่วมกับองค์ต่อไปหรือไม่ องค์กรควรมีช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจน สะดวก และโปร่งใส และสื่อสารข้อมูลกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งองค์กรควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการพูดถึงปัญหา องค์กรควรรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติอย่างดี เท่าเทียม ถือเป็นวิธีการรักษาพนักงานให้ทำงานร่วมกับองค์กรต่อไปได้เป็นอย่างดี
สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาส่วนใหญ่ของพนักงานย่อมต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายในองค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศที่ดีภายในองค์กร ย่อมเป็นสิ่งที่องค์กรควรทำ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีไม่ใช่เพียงแต่การจัดสถานที่ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน, สังคมการทำงาน และระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานขององค์กร หากบรรยากาศและเพื่อนร่วมงานดี พนักงานก็จะมีความสุข สุขภาพจิตดี ไร้กังวลเกี่ยวกับภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างแน่นอน
พัฒนาศักยภาพของบุคลากร
การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้าม เพราะพนักงานทุกคนก็ต้องการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถของตนเองให้มากขึ้นอยู่เสมอ หากองค์กรมองเห็นและใส่ใจในเรื่องนี้ ก็จะส่งผลดีต่อองค์กรอีกด้วย หากพนักงานได้ฝึกอบรม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ก็จะทำให้พนักงานมองเห็นการเติบโตในสายอาชีพที่ตนเองทำอยู่ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร นับว่าเป็นสิ่งดึงดูดใจให้พนักงานอยากทำงานร่วมกับองค์กรต่อไปได้
ให้ความสำคัญกับ Feedback
อย่างที่ทราบกันดีว่าการให้ Feedback เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างดีเยี่ยม เป็นการส่งเสริมทักษะการทำงานของพนักงาน หากองค์กรต้องการให้พนักงานปรับปรุงหรือแก้ไขในเรื่องใด ก็สามารถให้ Feedback พนักงานได้เลย หรือหากองค์กรต้องการจะชื่นชม ก็สามารถให้ Feedback พนักงานคนนั้นได้เช่นกัน และในมุมมองกลับกัน องค์กรก็ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของพนักงานด้วย เพื่อนำบางสิ่งมาแก้ไข เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจ และร่วมมือกันดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กรต่อไปได้
มอบค่าตอบแทนที่เหมาะสม
การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไปได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ เรื่องของค่าตอบแทน การให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับเนื้องาน จะเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่า องค์กรมองเห็นถึงความสำคัญของพนักงาน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เงิน” ก็เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของพนักงานว่าจะทำงานต่อที่องค์กรเดิมหรือจะไปเริ่มงานใหม่ที่องค์กรอื่น หากพนักงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม คุ้มค่า และได้รับสวัสดิการดี ๆ สิ่งนี้ก็จะเป็นสิ่งมัดใจที่ทำให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรต่อไปในระยะยาวได้
ให้ความสำคัญกับความสมดุลของชีวิต
อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ความสมดุลของชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน หรือที่เรียกว่า Work-Life Balance แน่นอนว่าการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ภาระงานไม่มากจนเกินไป จะช่วยให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการสร้างสมดุลในการบริหารเวลาชีวิตส่วนตัวให้พอดี ก็จะไม่กระทบต่อเวลาการทำงาน พนักงานสามารถแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวออกจากกันได้ ลดการเกิดภาวะเครียดจากการทำงาน สุขภาพกาย สุขภาพใจ ก็จะดีตามไปด้วย ส่งผลให้พนักงานมี Passion ในการทำงาน ทำผลงานออกมาได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้พนักงานอยากร่วมงานกับองค์กรต่อไปในระยะยาวอีกด้วย
สรุป มัดใจพนักงานให้อยู่ยาว ด้วย 6 กลยุทธ์ Employee Retention
โดยสรุปแล้ว การรักษาพนักงานให้อยู่ร่วมงานกับองค์กรไปยาว ๆ นั้น องค์กรต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน ใส่ใจ และดูแลพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การนำกลยุทธ์ Employee Retention มาใช้นั้น ต้องได้รับความร่วมมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร, HR, หัวหน้างาน หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำกลยุทธ์นี้นำมาปรับใช้ เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี จะส่งผลให้พนักงานที่เก่ง และมีคุณภาพ มีความต้องการที่จะร่วมงานกับองค์กรของท่านต่อไปได้