หนึ่งคำถามยอดฮิตของพนักงานที่ยังคงสงสัยกันอยู่ว่า “หมอนัด ต้องใช้ลาอะไร” จะต้องใช้ลากิจ หรือ ลาป่วย วันนี้เรามีเกร็ดความรู้ดี ๆ มาฝากทุกท่าน ไปหาคำตอบกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Q&A พนักงานลาป่วยบ่อย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่?
- ลาป่วยกี่วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ นายจ้างหักเงินได้ไหม?
- ลาป่วย 20 ข้อ ที่พนักงานควรรู้!
- ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
Q: หมอนัด ต้องใช้ลาอะไร?
หนึ่งคำถามยอดฮิตของเหล่าพนักงาน หลาย ๆ คนยังคงสงสัยว่า หมอนัด ต้องใช้ลากิจ หรือ ลาป่วย วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝาก ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
A: กรณีหมอนัด ถือเป็นวันลาป่วย เนื่องจากเป็นการลาเพื่อไปรักษาโรคเนื่องมาจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกจ้างขออนุญาตลากับนายจ้างโดยตรง ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน
ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลของทางราชการ
ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ไม่ได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “วันลาป่วย” หรือ “ป่วย” ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า “ป่วย” ไว้ว่า เป็นอาการที่รู้สึกไม่สบายเพราะโรคหรือความไข้ หรือเหตุอื่นใดที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น
เมื่อประกอบกับกฎหมายแล้ว จึงมีการกำหนดวันลาป่วยเพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสหยุดพักรักษาตัวในขณะที่เจ็บป่วย เพื่อให้ฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วย ให้ร่างกายกลับมาสู่สภาวะเดิมพร้อมกลับมาปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเคสผู้ป่วย
เมื่อลูกจ้างป่วย เป็นโรคไตเรื้อรัง ลูกจ้างจะต้องรักษาตัว โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง/ครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตามที่แพทย์กำหนด จึงทำให้ลูกจ้างต้องหยุดงานในวันดังกล่าวตามที่แพทย์กำหนด จึงถือเป็นการลาเพื่อรักษาโรค เนื่องจากเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะที่ลูกจ้างขออนุญาตลากับนายจ้างโดยตรง ขณะนั้นลูกจ้าง ยังคงมีอาการเจ็บป่วย สภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์แข็งแรง อันเป็นสาเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามปกติ
กรณีการลาดังกล่าวจึงถือว่าเป็นวันลาป่วยตามมาตรา 32 แห่ง พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างสามารถขอลาป่วยกับนายจ้างได้ แต่ต้องเท่าที่ป่วยจริงเท่านั้น และเมื่อลูกจ้างได้ลาป่วยตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันลาป่วยแก่ลูกจ้างตามมาตรา 32 เท่าอัตราค่าจ้าง ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน
สรุป Q&A ไขข้อข้องใจหมอนัด ต้องใช้ลาอะไร?
โดยสรุปแล้ว หมอนัด ต้องใช้ลาป่วย เนื่องจากลูกจ้างเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกจ้างขออนุญาตลากับนายจ้างโดยตรง ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ดังนั้น ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างระหว่างวันลาป่วย แต่จะได้รับเพียง 30 วันทำงาน ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น