การวางแผนภาษีนิติบุคคล กระบวนการที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจลดการเสียภาษีที่เกินความจำเป็นอย่างถูกกฎหมาย โดยการวางแผนภาษีนิติบุคคลมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- เตือน!! ค่าปรับภาษี กรณียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าช้า
- วิธียื่นภาษีออนไลน์ผ่าน E-FILING ที่มนุษย์เงินเดือนห้ามพลาด
- กำหนดการยื่นแบบและชำระภาษีป้าย ประจำปี 2567
- วิธีช้อปลดหย่อนภาษี 2567 ด้วย Easy E-Receipt
- ไขข้อสงสัย รถที่ใช้ในบริษัทต้องจัดการภาษีอย่างไร?
- วางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างง่าย ๆ ผ่าน App HumanSoft
“ภาษีนิติบุคคล” คืออะไร
ภาษีนิติบุคคล หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร จัดเก็บจาก "กำไรสุทธิ" ของนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สมาคม มูลนิธิ ฯลฯ โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ
ความสำคัญของการวางแผนภาษีนิติบุคคล
การวางแผนภาษีนิติบุคคล เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการวางแผนภาษีนั้นเป็นการเตรียมในการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต้องเสียภาษีในจำนวนเงินที่น้อยที่สุดแต่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้การวางแผนภาษีนิติบุคคลนั้นยังเป็นการจัดการสถานะทางการเงินของนิติบุคคล เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายอย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องเสียภาษีที่เกินความจำเป็น
5 กลยุทธ์การวางแผนภาษีนิติบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบกิจการในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลทั่วไป ก็ควรที่จะทำการวางแผนภาษีนิติบุคคล เพื่อให้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ประหยัดเงินภาษี และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยวันนี้ HumanSoft ได้นำ 5 กลยุทธ์การวางแผนภาษีนิติบุคคลมาฝาก ดังนี้
1. มีความรู้เรื่องภาษีนิติบุคคล
สิ่งสำคัญที่สุดในการวางแผนธุรกิจ คือ ต้องมีความรู้เรื่องภาษีนิติบุคคล ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นต้องศึกษาความรู้กับภาษีที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เนื่องจากการวางแผนภาษีนิติบุคคลนั้น จะสามารถวางแผนได้ก็ต่อเมื่อเราทราบว่าเราต้องยื่นแบบฯ ภาษีใดบ้าง และภาษีแต่ละประเภทต้องยื่นภาษีเมื่อใดนั่นเอง
หากเจ้าของธุรกิจเข้าใจภาษีนิติบุคคลก็จะสามารถวางแผนภาษี คำนวณภาษี เพื่อจัดสรรเงินทุนและเตรียมพร้อมสำหรับการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. เข้าใจบัญชีธุรกิจของตน
สิ่งสำคัญของการวางแผนภาษีนิติบุคคลถัดมา คือ “เข้าใจบัญชีธุรกิจของตนเอง” โดยก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่ารายได้และรายจ่ายของธุรกิจเรานั้นเป็นอย่างไร รายได้หรือรายจ่ายนั้น มีกี่ประเภท มาจากอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อนำไปคำนวณหากำไรขาดทุนของธุรกิจ ซึ่งเจ้าตัวกำไรขาดทุนนี่แหละ ที่เราจะนำไปคำนวณว่าปีนี้ต้องเสียภาษีนิติบุคคลในจำนวนเท่าใด โดยสามารถคำนวณภาษีได้ ดังนี้
“ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไรขาดทุนสุทธิ x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล”
3. บริหารรายได้และรายจ่ายอย่างเหมาะสม
การวางแผนภาษีนิติบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพนั้น หัวใจสำคัญคือ “การบริหารรายได้และรายจ่ายของธุรกิจ” อย่างเหมาะสม ซึ่งการบริหารรายได้และรายจ่ายทางภาษีก็มีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้
รายได้ทางภาษี: รายได้ทางภาษีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี และรายได้ทางภาษี
- รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี เป็นรายได้ทางบัญชีแต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เช่น ได้รับเงินปันผลจากบริษัท เป็นต้น โดยรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนั้นส่งผลให้กำไรทางภาษีน้อยลง และเสียภาษีน้อยลง
- รายได้ทางภาษี เป็นรายได้ที่ไม่ถือเป็นรายได้ทางบัญชี เช่น การขายสินค้าที่ต่ำกว่าราคาต้นทุน เป็นต้น ซึ่งทำให้กำไรทางภาษีเพิ่มขึ้น และเสียภาษีเยอะขึ้นไปด้วย
รายจ่ายทางภาษี: รายจ่ายทางภาษีหรือค่าใช้จ่ายทางภาษี เป็นค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจหรือกิจการได้จ่ายออกไป ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายจ่ายที่หักได้เพิ่ม และรายจ่ายต้องห้าม
- รายจ่ายที่หักได้เพิ่ม คือรายจ่ายที่บันทึกบัญชีแล้วแต่ทางภาษีให้หักเพิ่มเติมได้อีก เช่น รายจ่ายที่รัฐบาลสนับสนุนสามารถหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่ม เช่น รายจ่ายในการว่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน เงินบริจาค เป็นต้น ซึ่งรายจ่ายที่หักภาษีได้เพิ่มเป็นรายจ่ายที่บริษัทควรจะมีให้มากเข้าไว้
- รายจ่ายต้องห้าม คือรายจ่ายที่กิจการต้องลงในบัญชีบริษัทปกติ แต่ไม่สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ เช่น รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหาร รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ รายจ่ายที่รองรับลูกค้าเกินจากที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
4. หมั่นคำนวณภาษีอย่างสม่ำเสมอ
ขอแนะนำเลยว่าการคำนวณภาษีนั้นอย่างรอให้ถึงปลายปี เจ้าของธุรกิจควรติดตามผลหรือหมั่นคำนวณภาษีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบจำนวนภาษีที่ต้องชำระในปีนั้น ๆ และยังเป็นการตรวจสอบบัญชีไปในตัวว่ามีรายได้ หรือรายจ่ายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นไปตามที่ได้วางแผนทางภาษีหรือไม่
5. เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน
ในการวางแผนภาษีนิติบุคคลนั้น ควรจัดเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองการหัก ณ ที่จ่าย เป็นต้น เนื่องจากเป็นเอกสารที่จำเป็นต่อการยื่นภาษี และยังสามารถใช้ประกอบการตรวจสอบภาษีในกรณีที่อาจถูกร้องขอให้ตรวจสอบภาษีในภายหลังได้ และที่สำคัญการเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องนั้นช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภาษี เพื่อประเมินแนวโน้มหรือวางแผนภาษีนิติบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
สรุป 5 กลยุทธ์วางแผนภาษีนิติบุคคล ฉบับเจ้าของธุรกิจเข้าใจง่าย
จะเห็นได้ว่าการวางแผนภาษีนิติบุคคลนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งการวางแผนภาษีนิติบุคคลที่ดี ควรควบคู่ไปกับความรู้ทางภาษีนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความเข้าใจบัญชีธุรกิจของตน การบริหารรายรับรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ หมั่นคำนวณภาษีอยู่เสมอ และเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ก็จะช่วยให้ขั้นตอนการวางแผนภาษีนิติบุคคลเต็มไปอย่างมีประสิทธิภาพ