บทความนี้จะอธิบายวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แบบเข้าใจง่ายๆ พร้อมตัวอย่างการคำนวณ โดยครอบคลุมการคิดภาษีทั้ง 3 กรณี สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- วางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างง่าย ๆ ผ่าน App HumanSoft
- เตือน!! ค่าปรับภาษี กรณียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าช้า
- 5 กลยุทธ์วางแผนภาษีนิติบุคคล ฉบับเจ้าของธุรกิจเข้าใจง่าย
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมตัวอย่าง
การคิดภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละปีนั้น เป็นเรื่องที่ปวดหัวพอสมควรเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการคิดภาษีเงินได้นั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนที่จดทะเบียนบริษัท หรือ หจก จำเป็นต้องทำให้ได้และทำให้ถูกต้อง ดังนั้น ก่อนที่จะไปเรื่องการคำนวณ เรามาทำความรู้จักกับความรู้เบื้องต้นด้านฐานภาษีบุคคลกันก่อน
ฐานภาษีนิติบุคคล มีอะไรบ้าง?
อัตราการชำระภาษีนิติบุคคลนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ธุรกิจ SME กับ ธุรกิจนอกเหนือจาก SME (มหาชน) ดังนี้
- ธุรกิจ SME คือธุรกิจที่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000,000 บาทและมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5,000,000 บาท
- ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) คือ คือธุรกิจที่มีรายได้ทั้งปีมากกว่า 30,000,000 บาทและมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 5,000,000 บาท
อัตราภาษีนิติบุคคล
หลังจากรู้จักทั้งสองรูปแบบกันแล้ว ต่อไปเป็นอัตราภาษีของธุรกิจทั้งสองแบบ ที่มีอัตราการคิดที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้
อัตราภาษีธุรกิจ SME
สำหรับการคิดอัตราภาษีของธุรกิจ SME นั้นจะคิดแบบขั้นบันได ดังนี้
- ยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก
- กำไรสุทธิ 300,001 บาท ถึง 3,000,000 บาท จะต้องชำระภาษี 15%
- กำไรสุทธิ 3,000,001 บาทขึ้นไป จะต้องชำระภาษี 20%
อัตราภาษีธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน)
สำหรับการคิดอัตราภาษีของธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) นั้นจะแตกต่างจาก SME คือจะมีการคิดเพียงแต่อัตราเดียว ได้แก่
- กำไรสุทธิตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จะต้องชำระภาษี 20%
วิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
หลังจากพอเข้าใจวิธีการคิดภาษีจากฐานภาษีนิติบุคคลเบื้องต้นแล้ว ต่อมาคือวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยแบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้
- กรณีขาดทุน
- กรณีกำไรสุทธิไม่ถึง 300,000 บาท
- และกรณีกำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
1. ตัวอย่างกรณีขาดทุน
ข้อมูลตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจของบริษัท A ทั้งปี ดังนี้
- รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 1,200,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายทั้งปีอยู่ที่ 1,500,000 บาท
- ชำระภาษีระหว่างปีไปแล้ว 100,000 บาท
จากข้อมูลนี้ สังเกตง่ายๆ ได้เลยคือเมื่อค่าใช้จ่าย มากกว่า รายได้ แปลว่าผลประกอบการของธุรกิจนี้ ขาดทุน 300,000 บาท นั่นเอง และเมื่อธุรกิจจะขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SME หรือ ธุรกิจนอกเหนือ SME ก็ไม่ต้องชำระภาษีและยังขอสามารถคืนภาษีที่ชำระแล้ว 100,000 บาทได้อีกด้วย
สรุป กรณีขาดทุน ไม่ต้องชำระภาษีและสามารถขอคืนภาษีที่ชำระไประหว่างปีได้
2. ตัวอย่างกรณีกำไรสุทธิไม่ถึง 300,000 บาท
ข้อมูลตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจของบริษัท B ทั้งปี ดังนี้
- รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 1,500,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายทั้งปีอยู่ที่ 1,400,000 บาท
- ชำระภาษีระหว่างปีไปแล้ว 100,000 บาท
จากข้อมูลนี้สังเกตได้ง่ายๆ คือบริษัทมีกำไร 100,000 บาท ซึ่งกรณีมีกำไรนั้น จะแยกคิดอัตราภาษีเป็น 2 แบบ คือ ธุรกิจ SME กับ ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) ดังนี้
กรณีมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับธุรกิจ SME
จากข้อมูลตัวอย่าง บริษัทมีกำไรสุทธิ 100,000 บาท หากย้อนไปดูข้อมูลตารางอัตราภาษีจากข้อมูลฐานภาษี SME แล้ว จะพบว่า ธุรกิจ SME ได้รับการยกเว้นภาษี เพราะมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท
กรณีมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน)
จากข้อมูลตัวอย่าง บริษัทมีกำไรสุทธิ 100,000 บาท จะต้องคำนวณตามข้อมูลตารางอัตราภาษีจากข้อมูลฐานภาษี ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) ข้างต้นที่มีเรทเดียวดังนี้
“กำไรสุทธิตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จะเสียภาษี 20%”
100,000 x 20% = 20,000 บาท
*แต่ระหว่างปีมีการชำระไปแล้ว 100,000 บาท จึงสามารถขอคืนภาษีได้ 80,000 บาท (100,000-20,000 = 80,000บาท)
สรุป กรณีมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับธุรกิจ SME ได้รับการยกเว้นภาษี แต่สำหรับ ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 20%
3. ตัวอย่างกรณีมีกำไรสุทธิระหว่างปี มากกว่า 300,000 บาท
ข้อมูลตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจของบริษัท C ทั้งปี ดังนี้
- รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 1,500,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายทั้งปีอยู่ที่ 800,000 บาท
- ชำระภาษีระหว่างปีไปแล้ว 100,000 บาท
จากข้อมูลข้างต้นสังเกตง่ายๆ คือ บริษัทมีกำไรอยู่ที่ 700,000 บาท ซึ่งต้องแยกคำนวณจากฐานภาษีของธุรกิจ SME กับ ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) ดังนี้
กรณีมีกำไรสุทธิระหว่างปี มากกว่า 300,000 บาท สำหรับ SME
จากข้อมูลตัวอย่าง บริษัทมีกำไรสุทธิ 700,000 บาท จะต้องคำนวณตามตารางอัตราภาษี SME ข้างต้นได้ดังนี้
กำไร 300,000 บาท บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี ต่อมาพิจารณากำไร 400,000 บาท จะต้องชำระภาษี 15% ได้แก่ 400,000 x 15% = 60,000 บาท
*แต่ระหว่างปีได้มีการชำระภาษีไปแล้ว 100,000 บาท ดังนั้นจึงสามารถขอคืนภาษีได้ 40,000 บาท (100,000-60,000 = 40,000บาท)
กรณีมีกำไรสุทธิระหว่างปี มากกว่า 300,000 บาท สำหรับธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน)
จากข้อมูลตัวอย่าง บริษัทมีกำไรสุทธิ 700,000 บาท จะต้องคำนวณตามตารางอัตราภาษี ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) ที่มีเรทเดียวได้ดังนี้
“กำไรสุทธิตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 20%”
700,000 x 20% = 140,000 บาท
*แต่ระหว่างปีมีการชำระไปแล้ว 100,000 บาท จึงต้องชำระเพิ่มเติมอีก 40,000 บาท
สรุป กรณีมีกำไรสุทธิมากกว่า 300,000 บาท สำหรับธุรกิจ SME นั้น ต้องชำระภาษีในอัตรา 15%-20% หลังจากหักยอดกำไรที่ยกเว้นไปแล้ว แต่สำหรับ ธุรกิจนอกเหนือ SME (มหาชน) จะต้องจ่ายภาษีในอัตรา 20%
สรุปวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แบบเข้าใจง่าย พร้อมตัวอย่าง
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เป็นเรื่องของตัวเลขที่มีความสำคัญมากในองค์กร ดังนั้นการศึกษาและทำความเข้าใจดังตัวอย่างทั้ง 3 กรณี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้ได้การวางแผนภาษีนิติบุคคลที่ดีและการคำนวณภาษีที่ถูกต้องมากที่สุด