หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ HR ต้องเลิกจ้างพนักงานกะทันหัน แล้วเจ้านาย หรือองค์กรจะต้องจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างเท่าไร ตามกฎหมายแรงงาน
บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ :
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
- Q&A บริษัทไม่จ่าย OT แต่ให้เป็นวันหยุดชดเชยสามารถทำได้ไหม?
- HR ควรรู้! กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับการทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A ลาคลอดได้กี่วัน? นับวันอย่างไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A ลูกจ้างต้องได้พักก่อนเริ่มทำโอที 20 นาที ใช่หรือไม่?
Q: เลิกจ้างพนักงานกะทันหัน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง หรือเงินชดเชยการเลิกจ้าง เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ HR ต้องศึกษาข้อมูลไว้เสมอ เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ไม่มีใครสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ หากวันนึงมีเหตุจำเป็นให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน แต่ HR ไม่รู้ข้อมูลเรื่องการจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง ก็จะนำมาสู่คำถามที่ว่า “องค์กรหรือบริษัทที่เลิกจ้างพนักงานอย่างกะทันหัน ต้องจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างให้กับพนักงานเป็นเงินเท่าไร?”
A : คำตอบคือ เงินชดเชยเลิกจ้าง ตามกฎหมายแรงงานได้ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นกรณีดังนี้
1. เลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
1.1 ครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
1.2 ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน
1.3 ครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน
1.4 ครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
1.5 ครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
2. เลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงาน เปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาแทน
โดยนายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้
2.1 แจ้งวัน เหตุผล และรายชื่อที่จะเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน
2.2 ถ้าไม่แจ้ง หรือแจ้งน้อยกว่า 60 วัน ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้าย (สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย )
ค่าชดเชยพิเศษ
เป็นค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ดังนี้
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ เพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปี (สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย )
- ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย (สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย )
- เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี
Tips อ่านบทความเพิ่มเติม >> ค่าชดเชยพิเศษ หมายความว่าอย่างไร
3. เลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบกิจการไปที่อื่น ทำให้มีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างหรือครอบครัว
โดยนายจ้างต้องปฏิบัติตามนี้
3.1 ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยปกติ
3.2 ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
ข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- ลูกจ้างลาออกเอง
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญา
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (กรณีร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องตักเตือน)
- ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ได้รับโทษจำคุก
- กรณีการจ้างที่กำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนด เช่น การจ้างในโครงการ
สรุปการเลิกจ้างพนักงานและการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง
จากเงินค่าชดเชยเลิกจ้างพนักงานตามากฎหมายแรงงานที่กล่าวมานั้น หาก HR ไม่ทราบข้อมูล นอกจากจะทำให้นายจ้างเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าชดเชยพิเศษแล้ว ยังกระทบกับการดำเนินชีวิตของพนักงานที่ต้องไร้งานทำโดยไม่ได้เตรียมตัวไว้อีกด้วย ดังนั้นการศึกษาข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับเหตุการณ์เลิกจ้างงานดังกล่าว