ย้ำเตือนนายจ้าง! ก่อนจะจ้างแรงงานเด็ก มีข้อห้ามและกฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กอะไรบ้างที่นายจ้างต้องรู้และต้องปฏิบัติตาม วันนี้เรารวบรวมข้อมูลดี ๆ มาฝาก ไปดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- นายจ้างควรรู้! การใช้แรงงานหญิงตามกฎหมาย มีข้อห้ามอะไรบ้าง
- รวมสิ่งที่ HR ควรรู้ก่อนการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย
- นายจ้างควรรู้! หลักเกณฑ์การจ้างงานคนพิการตามกฎหมายกำหนด
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
ว่าด้วยเรื่อง “การใช้แรงงานเด็ก”
แรงงานเด็ก คือ ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 18 ปี โดยการทำงานนั้นเป็นการทำงานเต็มเวลา ที่มีชั่วโมงการทำงานระหว่าง 14-43 ชั่วโมง/สัปดาห์ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็กที่นายจ้างต้องรู้และต้องปฏิบัติตามมาฝาก จะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
กฎหมายคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก
กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง
- ตามมาตรา 44 ห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง
2. กรณี ที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นลูกจ้าง
- นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงาน ตรวจแรงงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่ เด็กเข้าทำงาน และแจ้งการสิ้นสุดการ จ้างเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาพัก 1 ชั่วโมงต่อวันภายใน 4 ชั่วโมงแรกของ การทำงาน และให้มีเวลาพักย่อยได้ตามที่นายจ้างกำหนด
3. ห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
4. ห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา
- ตามมาตรา 48 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด
5. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานต่อไปนี้
- งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ
- งานปั๊มโลหะ
- งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียงและแสง ที่มีระดับแตกต่างจากปกติอันอาจเป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานี บริการที่เป็นเชื้อเพลิงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานขับหรือบังคับรถยกหรือปั้นจั่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานใช้เลื่อยเดินด้วยพลังไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์
- งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ, ในถ้ำ อุโมงค์ หรือปล่องในภูเขา
- งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- งานทำความสะอาดเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่กำลังทำงาน
- งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป
- งานอื่นตามที่กำหนดในกระทรวง
6. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ต่อไปนี้
- โรงฆ่าสัตว์
- สถานที่เล่นการพนัน
- สถานที่เต้นรำ รำวง หรือ รองเง็ง
- สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่ม อย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกจ้าง หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า
- สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
7. ห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กแก่บุคคลอื่น
- ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กให้แก่บุคคลอื่น
- ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินหรือประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่น เป็นการล่วงหน้าก่อนมีการจ้าง ขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างในแต่ละคราว มิให้ถือว่าเป็นการจ่ายหรือรับค่าจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้น และห้ามมิให้นายจ้างนำเงินหรือประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวมาหักจากค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กตามกำหนดเวลา
8. ห้ามนายจ้างเรียก/หรือรับ เงินประกันจากฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก
- ตามมาตรา 51 ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเพื่อการใด ๆ จากฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก
9. ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม
- สัมมนา รับการอบรม รับการฝึก หรือลาเพื่อการอื่นซึ่งจัดโดยสถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่อธิบดีเห็นชอบ และให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเด็กเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน
บทลงโทษสำหรับนายจ้างหากฝ่าฝืนกฎหมาย
หากนายจ้างฝ่าฝืน ต้องมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาท จนถึง 2,000,000 บาท / ลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี หรือทำจำทั้งปรับ
สรุปกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก ที่นายจ้างต้องปฏิบัติตาม
ย้ำเตือนนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการทุกท่านให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นายจ้างต้องให้ความเป็นธรรมกับแรงงานเด็ก และต้องจ้างงานแรงงานเด็กที่อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เท่านั้น
หากตรวจพบนายจ้าง สถานประกอบกิจการใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะดำเนินคดีกับนายจ้างรายนั้นทันที