PageView Facebook
date_range 01/06/2023 visibility 212903 views
bookmark HR Knowledge
รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40 - blog image preview
Blog >รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40

หลายคนยังไม่ทราบว่าสิทธิประกันสังคมทั้งหมดมีอะไรบ้าง ไม่ต้องไปตามหาที่ไหน ในบทความนี้มีอธิบายให้ครบทั้งหมด


สิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่ผู้ประกันตนควรรู้


ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าประกันสังคมของเรานั้น มีอยู่ทั้งหมด 3 มาตรา ได้แก่ 

  • มาตรา 33 คือผู้ที่ทำงานให้นายจ้าง     
  • มาตรา 39 คือผู้ที่ลาออกจากงานประจำ
  • มาตรา 40 คือผู้ที่มีอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย

      

ในแต่ละมาตราจะมีสิทธิประกันสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่ง สิทธิประกันสังคม คือ สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนต้องได้รับจากระบบประกันสังคม เมื่อเจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต โดยไม่ได้เกิดจากการทำงาน รวมไปถึงการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่ผู้ประกันตนควรรู้ไว้ มีดังนี้


สิทธิประกันสังคมมีอะไรบ้าง



สิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองทั้งหมดที่ผู้ประกันตนจะได้รับจากการส่งเงินสมทบประกันสังคมในทุกๆ เดือนนั้น มีทั้งหมด 7 กรณีหลักๆ พร้อมกับเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ ดังนี้


Tips! อ่านเพิ่มเติม >> วิธีการส่งเงินสมทบประกันสังคม



1.กรณีเจ็บป่วย


กรณีของสิทธิประกันสังคมนี้ต้องเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่ได้มาจากการทำงาน  เพราะหากเป็นการเจ็บป่วยที่มาจากการทำงาน จะเข้าหลักเกณฑ์ของการรับสิทธิกองทุนเงินทดแทน


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และอยู่ภายใน 15 เดือนก่อนที่จะประสบอันตราย

 

ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์โดยแบ่งตามกลุ่มได้ดังนี้

  • การส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค

ในการส่งเสริมสุขภาพหรือป้องกันโรค ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตามหลักเกณฑ์ที่แพทย์กำหนด รวมถึงการฉีดวัคซีนตามสถานการณ์ของโรคระบาดในแต่ละปี โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


  • การเจ็บป่วยปกติ

เมื่อเจ็บป่วยปกติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ยกเว้น 14 โรคที่ไม่ใช่ความจำเป็นในขั้นพื้นฐานของชีวิตตามประกาศของประกันสังคม เช่น การเสริมสวย การมีบุตรยาก ผสมเทียม แว่นตา การใช้สารเสพติด การเปลี่ยนเพศ และการฆ่าตัวตาย เป็นต้น


  • การเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ

      เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุสามารถเข้ารับบริการตามสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอื่น ต้องแจ้งสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์โดยเร็ว และต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน

แล้วเบิกคืนจากประกันสังคมในอัตราที่กำหนดดังนี้


(ก.) สถานพยาบาลของรัฐ

สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมว ไม่นับวันหยุดรายการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยกเว้นค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท


(ข.)  สถานพยาบาลเอกชน

ผู้ป่วยนอก

เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท

ผู้ป่วยใน กรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องและอาหารไม่เกิน 700 บาท และในกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องและค่าอาหาร รวมกันไม่เกินวันละ 4,500 บาท และกรณีผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 800-16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด (กรณีฉุกเฉินเบิกได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง คือผู้ป่วยนอก 2 ครั้ง ผู้ป่วยใน 2 ครั้ง และกรณีอุบัติเหตเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)  ค่าทำ CT Scan เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง ค่าทำ MRI เบิกได้ไม่เกิน 8,000 บาท/ครั้ง ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกซเรย์ เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง ค่าฟื้นคืนชีพรวมค่ายาและอุปกรณ์ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง

 

ทั้งนี้ การประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับบริการตามสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งนับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ และในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์จนพ้นภาวะวิกฤตแล้ว จะส่งตัวไปเข้ารับการรักษาต่อ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ

 

  • เงินทดแทนการขาดรายได้

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ตามที่หยุดงานครั้งละไม่เกิน 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วันในหนึ่งปี ยกเว้นโรคเรื้อรังจะได้รับค่าทดแทนไม่เกิน 365 วัน ซึ่งปัจจุบันระบุไว้ 6 โรคได้แก่ โรคมะเร็ว ไตวายเรื้อรัง เอดส์ โรคหรือการบาดเจ็บจากสมองและกระดูกสันหลัง ความผิดปกติของกระดูกหัก และโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาตัวนานเกิน 180 วันตามมติของแพทย์

 

  • ทันตกรรม

ผู้ประกันตนสามารถรับบริการที่สถานพยาบาลใดก็ได้ แล้วนำใบเสร็จมาเบิกค่าบริการทางการแพทย์คืน ภายในอัตราดังนี้

ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าฟันคุด เบิกได้ตามที่จ่ายจริงและไม่เกิน 900 บาท/ปี

ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน เบิกได้ตามที่จ่าย ไม่เกิน 1,500 บาท ในระยะเวลา 5 ปี

ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,400 บาท ในระยะเวลา 5 ปี



2. กรณีทุพพลภาพ

กรณีของการทุพพลภาพนั้นต้องไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงาน


เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และอยู่ภายใน 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ

 

ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประกันสังคมตามนี้

2.1 เงินทดแทนการขาดรายได้

  • ทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง (ร้อยละ 35-49) รับเงินทดแทนร้อยละ 30 หรือในส่วนที่ลดลง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 เดือน   
  • ทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง (ร้อยละ 50 ขึ้นไป) รับเงินทดแทนตลอดชีวิตร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

2.2 ค่ารักษาพยาบาล


2.2.1 กรณีเจ็บป่วยปกติ

  • สถานพยาบาลของรัฐ 

ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

ผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ด้วยระบบ DRG


  • สถานพยาบาลเอกชน

ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกได้ไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน

ผู้ป่วยใน เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน

 

2.2.2 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

2.3 ค่าพาหนะ

รับส่งผู้ทุพพลภาพกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท

 

2.4 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ

ผู้ทุพพลภาพทางร่างกาย จิตใจและอาชีพ ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ อัตราฟื้นฟูของผู้ทุพพลภาพ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 40,000 บาท

 

2.5 เมื่อเสียชีวิต

จากการทุพพลภาพจะได้รับค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์เช่นเดียวกับกรณีตาย



3. กรณีคลอดบุตร


เงื่อนไขการใช้สิทธิ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
  • บุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงาน
  • กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง

 

ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประกันสังคมตามนี้

  • จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
  • สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน


4. กรณีสงเคราะห์บุตร


เงื่อนไขการใช้สิทธิ :

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ และได้รับเงินคราวละไม่เกิน 3 คน


การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

  • เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง


5. กรณีชราภาพ

     

การรับสิทธิประกันสังคมกรณีชราภาพสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้


1. กรณีบำนาญชราภาพ

       เงื่อนไขการใช้สิทธิ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

     ความคุ้มครอง :

  • กรณีจ่ายเงินสมทบ ครบ 180 เดือน (15ปี) ได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • กรณีที่มีการจ่าย เงินสมทบเกิน 180 เดือน ได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนเพิ่ม 1.5% จากอัตรา 20% ในทุก 12 เดือน

2. กรณีบำเหน็จชราภาพ

เงื่อนไขการใช้สิทธิ 

  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180     
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

 

ความคุ้มครอง :

  • กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินเท่ากับเงินสมทบเฉพาะของผู้ประกันตน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
  • กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
  • กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิ จะได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้าย


6. กรณีเสียชีวิต


กรณีของการเสียชีวิตนั้นต้องไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงาน


      เงื่อนไขการใช้สิทธิ : ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน และอยู่ภายใน 6 เดือนก่อนเสียชีวิต

 

      สิทธิประโยชน์ : ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประกันสังคมตามนี้

1. ผู้จัดการศพสามารถเบิกค่าทำศพได้ 50,000 บาท

2. เงินสงเคราะห์การเสียชีวิตให้แก่ทายาท จะได้รับดังนี้     

  • หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
  • หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ไม่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน


7. กรณีว่างงาน


      เงื่อนไขการใช้สิทธิ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน    
  • มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป  
  • ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน
  • รายงานตัวตามกำหนดผ่าน เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th เดือนละ 1 ครั้ง 
  • เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมทำงานตามที่จัดให้
  • ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
  • ต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือทำผิดกฎหมายกรณีร้ายแรง หรือ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร หรือ ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และไม่ใช่ผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

 

      ความคุ้มครอง : ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประกันสังคมตามนี้

  • กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย   
  • กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย
  • ในกรณีถูกเลิกจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน 

รวมสิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตนในมาตรา 33 39 และ 40

     

เมื่อทราบสิทธิประกันสังคมทั้งหมดแล้ว มาดูกันว่าผู้ประกันตนในแต่ละมาตรานั้น ได้รับสิทธิอะไรกันบ้าง

 

      ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี ได้รับสิทธิทั้ง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน

 

      ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ ลูกจ้างที่ออกจากงานไม่เกิน 6 เดือนและเคยส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ได้รับสิทธิ 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ

 

      ผู้ประกันตน มาตรา 40 คิอ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์หรือค้าขาย มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปี ได้รับสิทธิประกันสังคมแยกตามการส่งเงินสมทบ ดังนี้

 

1.เงินสมทบ 70 บาท/ เดือน

  • กรณีเจ็บป่วย รับเงินทดแทนสูงสุด 300 บาท/วัน( ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทน 500-100 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
  • กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้เพิ่ม 8,000 บาทเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)

 

2. เงินสมทบ 100 บาท/เดือน      

  • กรณีเจ็บป่วย รับเงินทดแทนสูงสูด 300 บาท / วัน (ไม่เกิน 30 วัน /ปี)  
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทน 500-100 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)  
  • กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 25,000 บาท(ได้เพิ่ม 8,000 บาทเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)  
  • กรณีชราภาพ ได้รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท / เดือน)

 

3. เงินสมทบ 300 บาท/เดือน

  • กรณีเจ็บป่วย รับเงินทดแทนสูงสูด 300 บาท / วัน (ไม่เกิน 90 วัน /ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทน 500-100 บาท/เดือน (ตลอดชีวิต)
  • กรณีเสียชีวิต รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • กรณีชราภาพ ได้รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท / เดือน)
  • กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงิน 200 บาท/คน/เดือน ครั้งละไม่เกิน 2 คน

 

ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของตนเองได้ ในช่องทางการเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >> วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์


สรุปสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่ควรรู้


จากข้อมูลสิทธิประกันสังคมทั้งหมด ทำให้ผู้ประกันตนทุกท่านทราบแล้วว่าสิทธิประกันสังคมทั้งหมดมีอะไรบ้าง และได้รับสิทธิอะไรกันบ้างในแต่ละมาตรา เพื่อที่จะเตรียมรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้ และสามารถใช้สิทธิที่ผู้ประกันตนมีอยู่ได้อย่างถูกต้อง ตามเงื่อนไขต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน


hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้