เมื่อในองค์กรมีพนักงานเกษียณอายุ สิ่งที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลต้องเตรียมการมีอะไรบ้าง วันนี้ HumanSoft มีคำตอบ ไปดูกันในบทความนี้เลย
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ:
- Q&A HR ต้องทำอย่างไร? เมื่อพนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน
- HR ควรรู้! กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับการทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน
- สวัสดิการที่ทุกบริษัทต้องมีตามกฎหมายแรงงาน
- วิธีคิดเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมแจกไฟล์ Excel
- 10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
ว่าด้วยเรื่องการเกษียณอายุ
การเกษียณอายุ คือ การเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานเมื่อลูกจ้างมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด การเกษียณอายุในประเทศไทยนั้นทางราชการกำหนดให้ข้าราชการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 60 ปี ส่วนภาคเอกชนมักไม่มีการกำหนดอายุเกษียณแน่นอนสำหรับลูกจ้าง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมากจะให้เกษียณที่อายุ 55 ปี ส่วนธุรกิจขนาดย่อมไปจนถึงขนาดเล็กมักจะไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีกำหนดเวลาเกษียณเพื่อให้ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหวแล้วลาออกไปเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย
ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 ว่าด้วยเรื่องการเกษียณอายุตามมาตรา 118/1 ได้กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุเมื่อมีอายุครบตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือหากไม่ได้มีการกำหนดตกลงกัน ลูกจ้างมีสิทธิ์ขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป (ให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา) และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง แต่หากลูกจ้างเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง
ทั้งนี้หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้น ตามมาตรา 144 กำหนดว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5 สิ่งที่ HR ควรเตรียมการเมื่อมีพนักงานเกษียณอายุ
เมื่อในองค์กรมีพนักงานเกษียณอายุ HR จะต้องเตรียมการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กำหนดวันเกษียณอายุที่ชัดเจน
บริษัทหรือองค์กรจะต้องกำหนดวันเกษียณอายุของพนักงานให้ชัดเจน ว่าพนักงานจะเกษียณอายุเมื่อใด เช่น “พนักงานที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในปีใด ให้เกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น” เพื่อสร้างความเข้าใจและรับทราบตรงกันโดยชัดเจนทั้งสองฝ่าย และเพื่อความสะดวกในการตระเตรียมการตามขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
2. วางแผนหาพนักงานใหม่มาทดแทน
บริษัทหรือองค์กรจะต้องวางแผนเรื่องการหาพนักงานใหม่เข้ามาทดแทน และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับขอบข่ายงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานที่จะเกษียณอายุล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทหรือองค์กรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
3. ดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118
บริษัทหรือองค์กรจะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานเกษียณอายุตามสิทธิประโยชน์ที่พนักงานเกษียณอายุจะได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ซึ่งมีดังนี้
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้ค่าชดเชย 30 วัน
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 90 วัน
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้ค่าชดเชย 180 วัน
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้ค่าชดเชย 240 วัน
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 10 แต่ไม่ครบ 20 ปี จะได้ค่าชดเชย 300 วัน
- พนักงานที่ทำงานต่อเนื่องกันครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้ค่าชดเชย 400 วัน
4. ดำเนินการเรื่องค่าชดเชยพิเศษหรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ
การดำเนินการเรื่องค่าชดเชยพิเศษหรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับนายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ไม่มีกฎหมายระบุหรือบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยบางบริษัทหรือองค์กรอาจมี สวัสดิการอื่น ๆ สำหรับพนักงานเกษียณอายุ เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จหรือบำนาญ เป็นต้น
5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
บริษัทหรือองค์กรควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้พนักงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน เพื่อสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตหลังเกษียณได้อย่างราบรื่น เช่น เงินบำเหน็จบำนาญจากกองทุนประกันสังคม กองทุนหุ้นระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรือแผนประกันชีวิตหลังเกษียณอายุ เป็นต้น
สรุป 5 สิ่งที่ HR ควรทำเมื่อมีพนักงานเกษียณอายุ
กล่าวโดยสรุป ว่าด้วยเรื่องการเกษียณอายุของพนักงานในองค์กรณ์นั้น สิ่งที่ HR ควรเตรียมการสำหรับการบริหารจัดการ 5 ข้อสำคัญ คือ 1. กำหนดวันเกษียณอายุที่ชัดเจน 2. วางแผนหาพนักงานใหม่มาทดแทน 3. ดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 4. ดำเนินการเรื่องค่าชดเชยพิเศษหรือเงินช่วยเหลืออื่น ๆ และ 5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ